กระทรวงสาธารณสุข แนะแฟนบอลชาวไทยที่บินไปเชียร์ฟุตบอลโลก 2014 ถึงประเทศบราซิล ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง   และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองก่อนเดินทางตามกฎหมายระหว่างประเทศ  และระวังโรคจากตัวมวน  ที่เรียกว่าโรคซากา  ซึ่งโรคนี้ไม่ติดต่อกันง่ายนัก  เพียงแต่ขอให้ระมัดระวังอย่าให้แมลงกัด  โรคนี้ยังไม่เคยพบในประเทศไทย       

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน -13 กรกฎาคม 2557  นี้ จะมีแฟนบอลจากทั่วโลกชมการแข่งขันประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งในส่วนของประเทศไทย  จะมีประชาชนชมการแข่งขัน  2  กลุ่ม คือชมอยู่ที่บ้านและเดินทางไปชมที่สนามแข่งขันที่บราซิล  ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500 คน กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยความปลอดภัยในสุขภาพ  โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปชมการแข่งขัน  เนื่องจากประเทศบราซิลเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ และอยู่ในเขตร้อนชื้น  จึงมีโรคคล้ายกับไทย มีที่แตกต่างก็คือไข้เหลือง  และโรคจากแมลงประเภทตัวมวน หรือที่เรียกว่าโรคชากา ( Chaga disease ) เป็นโรคประจำถิ่น ไม่มีในประเทศไทย  ดังนั้นจึงขอผู้ที่เดินทางไปชมการแข่งขัน เตรียมตัวให้พร้อม รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ก่อนเดินทางขอให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง ตามกฎหมายระหว่างประเทศ  โดยฉีดได้ที่สถาบันบำราศนราดูร  จ.นนทบุรี เพื่อความปลอดภัยขณะอยู่ในประเทศบราซิล และภายหลังเดินทางกลับประเทศไทย

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า  สำหรับผู้ที่ชมและเชียร์ในประเทศไทย การติดตามชมฟุตบอลโลกต้องรู้จักวางแผน ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เช่น หลังเลิกงานหรือเรียน  ให้นอนหลับพักผ่อน เพื่อที่จะตื่นมาดูการแข่งขันในคู่ที่ชื่นชอบ และต้องไม่ติดตามรับชมแบบหักโหมต่อเนื่องกันหลายๆ คืน เพราะจะทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบนี้แทบทั้งหมดจะแข่งขันกันในเวลาดึกกระทั่งเกือบสว่าง ยิ่งถ้าเชียร์ฟุตบอลพร้อมกับดื่ม เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ หรือ เครื่องดื่มชูกำลัง มากจนเกินไป รวมทั้งการกินขนมขบเคี้ยวหรือขนมหวาน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็วจากการสะสมไขมัน อาจเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังตามมา เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สภาพอากาศของประเทศบราซิล ร้อนชื้นคล้ายประเทศไทย มีโรคติดต่อคล้ายคลึงกัน เช่นโรคที่เกิดมาจากยุง แมลงวัน โรคจากอาหารและน้ำไม่สะอาด   โรคที่ไม่พบในไทยก็คือไข้เหลือง (yellow fever ) และโรคชากา ซึ่งโรคชากาเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัว   มีตัวมวนเป็นพาหะ มวนชนิดนี้จะอาศัยอยู่ตามผนังและหลังคาบ้านในชนบท  ที่ทำจากโคลน หรืออิฐที่ตากแห้งแล้วเผาไฟ หรือมุงด้วยใบจาก ตัวมวนจะกัดคนและปล่อยอุจจาระไว้บริเวณที่มวนกัด เมื่อเกาบริเวณที่ถูกกัดทำให้ผิวหนังถลอก เชื้อจะไชเข้าทางแผล อาการป่วยโรคนี้คือ จะมีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต อ่อนเพลีย  อาจมีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจวาย อาจเสียชีวิตได้ ปัจจุบันโรคนี้ไม่พบในเขตเมืองแล้ว และเป็นโรคที่ไม่ติดต่อกันง่ายนัก เพียงแต่ขอให้ระมัดระวังอย่าให้แมลงกัด 

สำหรับโรคไข้เหลือง เกิดจากเชื้อไวรัส  มียุงลายเป็นพาหะ โรคนี้สามารถติดเชื้อได้ทั้งในเขตเมืองและในเขตป่า  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะหลัง และปวดศีรษะ อาจมีอาการตัว ตา เหลือง ไตวาย  มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ และเสียชีวิตได้ แต่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มีการรักษาที่จำเพาะ โดยเน้นการรักษาตามอาการ ด้วยการให้ยาลดไข้และสารน้ำทางปาก เพื่อลดไข้และทดแทนภาวะขาดน้ำ หรือการให้เลือดชดเชยเมื่อเกิดเลือดออกตามระบบต่างๆ  ทั้งนี้ในการลดไข้และลดปวด ควรให้ยากลุ่มพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพริน (aspirin) หรือ ยาไอบูโปรเฟน ( ibuprofen ) เนื่องจากจะเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในระบบต่างๆ ของร่างกายได้ง่าย

ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองล่วงหน้า ควรฉีดก่อนออกเดินทางไปประเทศที่เป็นเขตติดโรคไข้เหลือง 10 วัน วัคซีนไข้เหลืองเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลสูง จะให้ภูมิคุ้มกันโรคได้นาน 10 ปี และอาจอยู่ได้ถึงตลอดชีวิต ร้อยละ 95 ของผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคภายใน 1 สัปดาห์ ผลข้างเคียงของวัคซีนพบน้อยมาก  

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า  ในการป้องกันโรคระหว่างที่อยู่ในประเทศบราซิล ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติดังนี้  ระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารและน้ำ ควรเลือกดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มที่บรรจุหรือผนึกฝาที่สนิทแน่นจากโรงงานผลิต เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด ล้างมือให้สะอาด ล้างบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน สวมใส่เสื้อผ้าที่ปิดร่างกายมิดชิด หรือทาสารป้องกันแมลงกัด หรือนอนในมุ้ง โดยเฉพาะกรณีที่ไปท่องเที่ยวในพื้นที่ชนบท เพื่อป้องกันการถูกแมลงหรือสัตว์กัด โดยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักระบาดวิทยา โทร 02-5901723 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 ****************************************** 11 เมษายน 2557

 

 



   
   


View 20    11/06/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ