หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เร่งผลักดันนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาเป็นเขตบริการสุขภาพและเน้นการป้องกันก่อนการเกิดโรค และทำงานเชิงรุก ปลัดสธ.เสนอแผนการพัฒนาสาธารณสุข 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง ระยะยาว

วันนี้ (31 พฤษภาคม 2557)ที่กระทรวงสาธารณสุข พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงร่วมประชุมและรับมอบนโยบาย พลเรือเอกณรงค์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า การมาตรวจเยี่ยมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขที่มีแผนงานเร่งด่วน แผนงานระยะกลาง และแผนงานในระยะยาว โดยมีเรื่องที่ยังค้างหลังจากการยุบสภา ทำให้มีหลายเรื่องที่ขออนุมัติคณะรัฐมนตรี โดยจะร่วมมือและผลักดันเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2557
 
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากที่ได้นำเสนอการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่27 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาได้รับคำแนะนำการให้บริการประชาชนที่ต้องมีคุณภาพและทั่วถึง ให้ดำเนินการเชิงรุกเน้นป้องกันโรคมากกว่าที่จะรักษาพยาบาลเป็น 2เรื่องใหญ่ที่จะให้ถึงประชาชน สำหรับวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอการดำเนินงาน 3มาตรการ คือ มาตรการระยะเร่งด่วน ซึ่งต้องทำทันทีภายใน 4 เดือน คือ ร่วมสร้างกระบวนการสมานฉันท์ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะเป็นกลุ่มแรกในการเข้าเยียวยา กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีความคิดเห็นขัดแย้งทางการเมือง และ กลุ่มที่ 3คือประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด นอกจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบริการให้ดียิ่งขึ้น (Better Service) เช่น ลดเวลารอคอย ลดการปฏิเสธการส่งต่อ การแพทย์ฉุกเฉินคุณภาพ ให้ผู้สูงอายุ/ผู้พิการได้รับการฟื้นฟูในโรงพยาบาลทุกแห่ง ได้รับยาในมาตรฐานเดียวกัน พร้อมสร้างขวัญกำลังใจ โดยปรับระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ส่วนเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว จะนำเสนอทั้ง 2 ล็อตที่ค้างอยู่ปีละ7,547 ตำแหน่ง ซึ่งหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาได้รับทราบข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ได้เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการสร้างระบบธรรมาภิบาลและกลไกเฝ้าระวัง ตรวจสอบถ่วงดุล
 
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการระยะกลางที่ต้องดำเนินการใน 1ปี คือ การปฏิรูประบบบริการเป็นเขตบริการสุขภาพ 12 เขต โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนต้องมีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียม ปฏิรูปการเงินการคลังด้านสุขภาพ พัฒนาและการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนากลไกการสร้างเอกภาพในการกำหนดนโยบายสาธารณสุข ส่วนมาตรการระยะยาวที่ต้องดำเนินการภายใน3 ปี คือ การจัดทำแผนการลงทุน แผนการผลิตและพัฒนากำลังคน
********************************* 31 พฤษภาคม2557


   
   


View 14    01/06/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ