กระทรวงสาธารณสุข เผยมีเด็กไทยป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไอกรน เตือนผู้ปกครองนำบุตรเข้ารับวัคซีนป้องกันตามแผนการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่มีการเคลื่อนย้ายตลอด เช่น แรงงานภาคเกษตร อุตสาหกรรม รวมทั้งแรงงานต่างด้าว ที่นำบุตรเข้ามาทำงานด้วย โดยบุตรแรงงานต่างด้าวอายุไม่เกิน 7ปีบริบูรณ์ สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้ในอัตราคนละ 365บาท มีอายุคุ้มครอง 1ปี นับจากวันที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ จะได้รับวัคซีนครบชุดเช่นเดียวกับเด็กไทย

 

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดได้กับประชาชนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคทุกคน ทุกวัย โรคนี้ป้องกันได้ด้วยการฉัดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาเป็นวัคซีนรวม 1 เข็ม ป้องกันโรคได้ 3 โรค คือคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP) เป็นวัคซีนพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขจัดบริการฉีดให้เด็กทุกคนในประเทศไทย โดยฉีด 5 ครั้ง เริ่มครั้งที่ 1เมื่ออายุ 2 เดือน และฉีดซ้ำเมื่ออายุ 4เดือน, 6เดือน,1 ปี 6 เดือน และอายุ 4ปีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบชุดทุกคน มีโอกาสป่วยจากโรคไอกรนน้อยมาก หรือหากป่วยอาการจะไม่รุนแรง เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันบางส่วนที่ได้จากวัคซีนแล้ว
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า หากเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีป่วยเป็นโรคไอกรน มักจะมีอาการรุนแรง เนื่องจากระดับภูมิต้านทานโรคในร่างกายยังมีน้อย จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย ที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตคือโรคปอดอักเสบหรือปอดบวม เช่นในปี 2556 ตลอดปีพบผู้ป่วย 24 ราย ส่วนใหญ่พบในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มากสุดคืออายุ 1-3 เดือนพบร้อยละ 33 โดยพบมีเด็กอายุ 2 เดือนเสียชีวิต 2 ราย รายที่ 1 ที่จ.ชลบุรี เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนคือปอดอักเสบ ได้รับการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน 1 ครั้ง ทำให้ร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ รายที่ 2 ที่ จ.บึงกาฬ โรคแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตคือสมองอักเสบ  รายนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเนื่องจากป่วยก่อนถึงวันนัดฉีดวัคซีน ซึ่งเด็กทั้ง 2 รายนี้เป็นเด็กเล็กเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย การป้องกันการเสียชีวิตในภาวะนี้ทำได้โดยผู้ปกครองต้องพาไปโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มป่วย เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ทันท่วงที  ซึ่งมียาปฏิชีวนะรักษาได้ จะลดโรคแรกซ้อน รักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้
ดั้งนั้นเพื่อป้องกันการป่วยและลดอันตรายจนถึงชีวิตในเด็กเล็กจากโรคไอกรน ขอให้ผู้ปกครองทุกคนนำบุตรหลานเข้ารับการรับวัคซีนตามนัดที่ปรากฏในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กให้ครบตามช่วงวัย ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในที่แออัดหรือในพื้นที่ที่มีโรคระบาด และที่สำคัญคือในกลุ่มประชาชนที่ย้ายที่อยู่บ่อย เช่นรับจ้างก่อสร้าง แรงงานภาคเกษตร  อุตสาหกรรม ลูกมีความเสี่ยงได้รับวัคซีนไม่ครบ จึงควรพาลูกหลานไปรับวัคซีนต่อเนื่องในสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่นำครอบครัวและบุตรเข้ามาทำงานในประเทศไทย ควรพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วนในสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง  เพื่อให้ปลอดภัยจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน โดยบุตรแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 7ปีบริบูรณ์ สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้ในอัตราคนละ 365บาท เฉลี่ยวันละ 1 บาท         มีอายุคุ้มครอง 1ปี นับจากวันที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ซึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนเหมือนเด็กไทย
 ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เยื่อบุทางเดินหายใจอักเสบ และเกิดอาการไอ อาการที่เป็นลักษณะพิเศษของโรคนี้คือ ไอเป็นชุดๆ คือไอซ้อนๆ ติดๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จนเด็กหายใจไม่ทัน และมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับไปกับการไอเป็นชุดๆ โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะป่วยเกือบทุกราย มักพบได้บ่อยในเด็กเล็กดังนั้นหากพบลูกหลานมีอาการป่วยที่กล่าวมา ขอให้สงสัยว่าเป็นโรคไอกรน ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว โรคนี้มียารักษาหาย  
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรคไอกรนลดลงมาก จากการเพิ่มระดับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ซึ่งในไทยมีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 98 โดยในไทยยังพบโรคนี้ได้ประปรายในชนบท และพบในเด็กอายุเกิน 5 ปีมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน พบการระบาดเป็นครั้งคราวในเด็กนักเรียนชั้นประถม การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้คือ ให้เด็กที่ป่วยพักผ่อน ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนจะใช้เวลารักษาประมาณ 6-10สัปดาห์โรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ ปอดอักเสบ เลือดออกในเยื่อบุตา อาจมีอาการชัก โดยกรมควบคุมโรคได้จัดระบบเฝ้าระวังโรคนี้ทั่วประเทศ รายงานทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามควบคุมป้องกันการแพร่ระบาด อย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว    
 ***************************************** 6 เมษายน 2557


   
   


View 11    06/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ