ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกะทรวงสาธารณสุขไทย มอบหมายให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม 161 ประเทศภาคีสมาชิก ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบระดับโลกครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร เพราะไทยมีชื่อเสียงระดับต้นของโลกที่จัดการบุหรี่อยู่ในระดับแนวหน้า เป็นแบบอย่างทั่วโลกได้ รวมทั้งความพร้อมของประเทศในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวภายหลังการลงนามกับ แพทย์หญิงมาการ์เร็ต ชาน (Dr. Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า ในปีนี้องค์การอนามัยโลก ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมประเทศภาคีสมาชิก 161 ประเทศ ในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ หรือกฎหมายควบคุมบุหรี่โลก ครั้งที่ 2 (Framework Convention on Tobacco Control: COP2) ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศกรอบอนุสัญญาดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริโภคยาสูบ และสกัดกั้นการแพร่ระบาดของบุหรี่ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น นายแพทย์มงคล กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีผู้บริหารระดับสูงระดับรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ จากประเทศต่างๆ เข้าประชุม 600-800 คน ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยได้แต่งตั้งนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพไทย เป็นประธานร่วมแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการขับเคลื่อนมาตรการควบคุมป้องกันพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งเป็นเพชฌฆาตมวนสีขาวแต่ห่อหุ้มไปด้วยสารพิษกว่า 4,000 ชนิด และมีสารก่อมะเร็งกว่า 42 ชนิด และไทยได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่องที่เป็นระดับแนวหน้าของโลก เช่น การออกประกาศพื้นที่สาธารณะปลอดควันบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ การติดรูปภาพคำเตือนพิษภัยจากการสูบบุหรี่ การห้ามขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ล่าสุดทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ 1,300 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ชายร้อยละ 95 และเสียชีวิตปีละเกือบ 5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 10 คน หากไม่มีมาตรการใดๆ คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1,000 ล้านคน ซึ่งกลุ่มคนดังกล่าวเป็นผู้รับควันบุหรี่มือสอง โดยมีผลการวิจัยเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า คนที่ไม่สูบบุหรี่แต่สูดควันบุหรี่จากที่บ้านหรือที่ทำงาน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจร้อยละ 25-30 และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดประมาณร้อยละ 30 เช่นกัน นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า สำหรับกฎหมายควบคุมบุหรี่โลก มีทั้งหมด 11 หมวด 38 มาตรา มี 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ตัวบทกฎหมายหรือมาตรการควบคุมยาสูบ อาทิ การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนยาสูบ รวมทั้งเทคโนโลยีช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ ส่วนที่ 2 เป็นหลักเกณฑ์ระเบียบการดำเนินงานและบริหารอนุสัญญา เช่น การบังคับใช้ การระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก เมื่อเปรียบเทียบกฎหมายฉบับนี้แล้วคล้ายกับ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของไทย อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ไทยได้เข้าร่วมการร่างข้อกำหนด การเพิ่มมาตรการควบคุมการลักลอบขายบุหรี่ผ่านพรมแดน (บุหรี่เถื่อน) และการขายในร้านค้าปลอดอากร ข้อกำหนดการควบคุมการโฆษณาข้ามพรมแดน รวมทั้งการสนับสนุนการแข่งขันกีฬา ดนตรี ที่มีผลข้ามพรมแดน และข้อกำหนดการประกาศเขตห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งหากได้รับการรับรอง ก็จะแก้ไขปัญหาได้พร้อมกันทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนให้เพิ่มงบประมาณในการควบคุมยาสูบ รวมทั้งการขึ้นภาษีบุหรี่ให้มากกว่าในปัจจุบันที่เก็บร้อยละ 60 เพื่อสกัดนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะวัยรุ่น โดยในการประชุมนี้ประเทศสมาชิกจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางด้านงบประมาณ การติดตามตรวจสอบและประเมินผลของประเทศภาคีสมาชิก ให้เป็นทิศทางเดียวกัน ************************************* 26 มิถุนายน 2550


   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ