กระทรวงสาธารณสุขเตือน หนูบ้าน หนูในที่ทำงาน มีสิทธิ์ก่อโรคฉี่หนูได้เช่นเดี่ยวกับหนูป่า หนูนา การติดเชื้ออาจผ่านโต๊ะอาหาร โต๊ะทำงาน ไม่จำเป็นต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนก็ได้ แนะทำความสะอาดบ้านเรือน สำนักงาน กำจัดขยะให้ถูกวิธีจะช่วยลดประชากรหนูได้มาก หากป่วยมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่อง หากสงสัยว่าอาจติดโรคฉี่หนู ควรรีบพบแพทย์ทันทีอย่าให้เกิน 3 วันหลังหลังเริ่มแสดงอาการป่วย

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ว่า โรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นของไทย ปัจจุบันพบได้ทั้งในเขตเมืองและชนบท พบผู้ป่วยได้ตลอดปี แต่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าโรคนี้พบได้เฉพาะในทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงหนูที่อาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือนหรือสำนักงานต่างๆหรือที่เรียกว่าหนูบ้าน ก็เป็นพาหะนำโรคนี้มาสู่คนได้เช่นกัน โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้นานหลายเดือน หากมีการติดเชื้อนี้เข้าไปแพทย์อาจคิดไม่ถึงโรคนี้ เพราะไม่มีประวัติลุยน้ำมาก่อน กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนดูแลความสะอาด อาคารสำนักงาน โต๊ะทำงาน โต๊ะอาหาร และบ้านเรือน ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู กำจัดขยะเศษอาหารไม่ให้เป็นแหล่งดำรงชีวิตของหนู ถังใส่ขยะเปียก ต้องมีฝาปิด  ป้องกันหนูลงไปกินอาหาร และหากมีหนูควรใช้อุปกรณ์ดักหนูและกำจัดทิ้ง การใช้วิธีไล่หนูหนีจากบ้านเรือน สำนักงาน ไม่สามารถป้องกันได้ และจะทำให้หนูแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ    

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปเชื้อโรคฉี่หนูจะเข้าสู่ร่างกายคนเราได้  2 ทางคือทางปาก จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อฉี่หนูเข้าไป และเชื้อไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ เชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน   จะมีอาการป่วย ที่มีลักษณะเฉพาะต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง  หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ แจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการพบเห็นหนูในบ้านหรือสำนักงานให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาให้หายขาดได้ 

“ที่น่าห่วงคือ พบว่าผู้ป่วยโรคฉี่หนูส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการหารายได้ของครอบครัว หากเป็นผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนที่ปอดได้ง่ายและมีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูงกว่าผู้ที่ไม่สูบ อย่างไรก็ตามผู้ที่มีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตา กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่อง จะต้องรีบไปพบแพทย์หลังมีอาการป่วยไม่เกิน 3 วัน อย่าซื้อยากินเอง” นายแพทย์ณรงค์กล่าว  

ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยาได้วิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคฉี่หนูพบว่า ในปีงบประมาณ 2551 - 2555 มีผู้เสียชีวิต 313 ราย  ร้อยละ 70 เป็นเพศชาย  ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ในปี 2556 มีผู้ป่วย 3,005 ราย เสียชีวิต 31 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.ศรีษะเกษจำนวน 317 ราย 2.สุรินทร์ 231 ราย 3.บุรีรัมย์ 194 ราย 4.นครศรีธรรมราช 148 ราย 5.กาฬสินธุ์และขอนแก่น 125 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปี แต่มักจะสูงสุดในฤดูฝนช่วงเดือนกรกฎาคมและตุลาคม เพราะมีการเพิ่มของประชากรหนูมาก และเชื้อแพร่กระจายได้มากจากน้ำฝน ทั้งนี้ ล่าสุดในเดือนมกราคม 2557 พบผู้ป่วยแล้ว 91 ราย เสียชีวิต 1 ราย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาเริ่มป่วยจนถึงเสียชีวิตเท่ากับ 5 วัน ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคฉี่หนู พบว่าเป็นผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์หลังจากเริ่มมีอาการป่วยแล้วไม่เกิน 3 วัน    ดังนั้นหากสงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคนี้ จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมกับเล่าประวัติเสี่ยงของการติดเชื้อเพื่อแพทย์จะได้ให้การรักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 

*********************************  10 กุมภาพันธ์ 2557



   
   


View 16    10/02/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ