กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งผู้ที่เมินใส่เสื้อผ้าให้ความอุ่นร่างกาย และผู้ที่นิยมดวดเหล้า ระวังหนาวตาย เผยในรอบ 3 เดือนฤดูหนาวปีนี้ มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว63 รายใน 27 จังหวัด พบทั้งชาวไทยและต่างชาติ อายุต่ำสุด 1 เดือน สูงสุด 83 ปี ผลสอบสวนสาเหตุพบเกิดจากหนาวตาย2 ราย ที่เหลือมาจากโรคประจำตัวกำเริบร่วมด้วย ที่พบบ่อยที่สุดคือโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคลมชัก แนะวิธีป้องกันประชาชนต้องสวมเสื้อผ้า เครื่องกันหนาวเวลากลางคืน งดดื่มสุรา เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์จะไล่ความร้อนออกจากร่างกาย
          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากสภาพอากาศยังมีความหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง ที่น่าเป็นห่วงก็คือยังมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของประชาชนที่คาดว่ามีสาเหตุจากอากาศหนาวเย็นเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักระบาดวิทยาวิทยา เฝ้าระวังการเจ็บป่วยรวมทั้งการเสียชีวิตจากภัยหนาวทุกจังหวัด และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม.ออกเยี่ยมบ้าน ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากภัยหนาว 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคปอดอักเสบเรื้อรัง โรคหอบหืด เป็นต้น รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน ลดพฤติกรรมเสี่ยงการเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น ขอให้ประชาชนสวมเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอ ไม่นอนในที่โล่งแจ้ง และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดทุกชนิด ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที ผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาสม่ำเสมอ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ8 แก้ว เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ไม่แห้งแตกง่าย

           ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการเฝ้าระวังรายงานผู้เสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศหนาวของประเทศไทย ของสำนักระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2556 – 19 มกราคม 2557 ซึ่งกรมป้องกันสาธารณภัย ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาว 45 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 25 ล้านกว่าคน โดยได้รับแจ้งผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาวรวมทั้งสิ้น 63ราย จาก 27 จังหวัด ร้อยละ 90 เป็นเพศชาย โดยเป็นคนไทย 59 ราย กัมพูชา 1 ราย ลาว 1 ราย อังกฤษ 1 ราย และไม่ทราบสัญชาติ 1 ราย อายุต่ำสุด 1 เดือน และสูงสุดคือ 83 ปี เจ้าหน้าที่ได้สอบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว49 ราย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนอีก 14 ราย ผลการสอบพบว่า มีเพียง 2 รายซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดเลย และอุบลราชธานี มีผลวินิจฉัยว่าเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นโดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น ส่วนอีก 47 ราย เสียชีวิตมาจากการมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนมาก่อนร่วมด้วย
            จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 6 ราย รองลงมาได้แก่ จังหวัดสระแก้ว นครราชสีมา จังหวัดละ5 ราย จังหวัดเลย แพร่จังหวัดละ 4 ราย ผู้เสียชีวิตร้อยละ51 เสียชีวิตในบ้านเรือน ที่เหลือเสียชีวิตในที่สาธารณะ หน้าบ้าน ข้างกองไฟ โดยมีปัจจัยเสี่ยงเสริมที่เกี่ยวข้อง 3 ปัจจัย คือการดื่มสุรา สวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอ และโรคประจำตัว ที่พบมากคือโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลมชัก
           นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายต่ำลงคือต่ำกว่า 37 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อระบบการไหลเวียนเลือด เส้นเลือดจะหดตัว เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดี หัวใจทำงานหนักและเต้นผิดปกติ และเกิดปัญหาไตวาย และเสียชีวิตขณะนอนหลับ ในการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายต่ำ ประชาชนควรปฏิบัติดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศหนาวเย็น และสวมเสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกายตลอดเวลา2.ไม่ควรดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะไม่ได้ช่วยคลายความหนาวแต่อย่างใด โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น และเกิดการสูญเสียความร้อนออกจากผิวหนังอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้เกิดอุณหภูมิร่างกายต่ำได้ง่าย จึงมักพบการเสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำในคนที่มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง
  4.รับประทานอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงานเช่น แป้งและไขมัน ดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น นมร้อน น้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนมีผลให้ร่างกายขับปัสสาวะมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น 5.สวมใส่เครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้ความอบอุ่นร่างกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะที่หน้าอกและคอ หากอากาศหนาวเย็นจัดหรือเสื้อผ้าไม่เพียงพอ อาจจะใช้ถุงพลาสติกที่สะอาดและแห้ง หรือ กระดาษ รองเป็นซับในเสื้อผ้าก็ได้ ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์โสภณกล่าว
****************************** 23 มกราคม 2557


   
   


View 8    23/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ