เช้าวันนี้ (27 พฤศจิกายน 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ผู้แทนหน่วยงาน สมาคม และองค์กรต่างๆ ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุขพระองค์แรก ทรงวางรากฐานการสาธารณสุขของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศ    ณ หน้าอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เนื่องในโอกาสคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขซึ่งตรงกับวันที่ 27 พฤศจิกายนทุกปี  และประกอบพิธีสงฆ์อุทิศส่วนกุศลให้อดีตข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่ล่วงลับไปแล้ว  จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำผู้บริหารกระทรวง ข้าราชการเจ้าหน้าที่  ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดี และพลังของแผ่นดิน

       นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข  ที่เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2485  โดยในปี 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมีอายุครบ 71 ปี  และครบ 95 ปีของการสาธารณสุขไทยหลังจากที่สถาปนาครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ.2461 เป็นต้นมา  การสาธารณสุขไทยได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับนานาชาติ อายุคาดเฉลี่ยของคนไทยเมื่อแรกเกิดยืนยาวขึ้น ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2556 ผู้ชายไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 71.1 ปี  ผู้หญิงเฉลี่ย 78.1 ปี เพิ่มขึ้นจากในปี 2532 ผู้ชายอายุเฉลี่ย 65.6 ปี             ผู้หญิงเฉลี่ย 70.9 ปี ขณะนี้ประชาชนไทยร้อยละ 99.9  มีหลักประกันสุขภาพ และเข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วยได้มากขึ้นจากร้อยละ 49 ใน พ.ศ.2534 เป็นร้อยละ  69 ในปี 2552    ตั้งเป้าในอีก 9 ปี คือในปี 2565  คนไทยจะมีอายุยืน 80 ปี เท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น และมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีไม่น้อยกว่า 72 ปี

                       

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทย เกิดมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น อาทิเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง ในย่างก้าวปีที่ 72 กระทรวงสาธารณสุข จะมุ่งเน้นการสร้างเสริมให้คนไทยมีความรอบรู้ทางสุขภาพด้วยนโยบาย สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่ เป็นการปรับแนวคิดให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างสุขภาพดีอย่างยั่งยืน   ขณะเดียวกันจะเดินหน้านโยบายปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข สร้างระบบบริการสุขภาพ การรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกสาขาบริการ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ แต่ละเขตรับผิดชอบดูแลประชาชนในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน  มีคณะกรรมการบริหารจัดการในเขต  โดยมีสถานบริการในพื้นที่ ทั้งระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ร่วมกันจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชน เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกันในเขต

                                            

     

ทั้งนี้ ผลดีของการบริหารจัดการในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ จะทำให้การพัฒนาศักยภาพสถานบริการในสังกัดทั้งการดูแลรักษาโรคทั่วไป และโรคที่มีความซับซ้อน ยุ่งยากซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เกิดขึ้นได้พร้อมพร้อมๆกันทั่วประเทศและมีมาตรฐานเดียวกัน  ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลใกล้บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่าย เดินทางไปรับการรักษาถึงในกรุงเทพมหานครอีกต่อไป

 *****************************************    27 พฤศจิกายน 2556



   
   


View 12    27/11/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ