“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 455 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้คนไทยเกือบ 1 แสนคนป่วยเป็นโรคถุงลมปอดโป่งพอง สาเหตุกว่าร้อยละ 90 เกิดจากการสูบบุหรี่ พิษเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อภายในปอด เป็นแล้วรักษาไม่หายขาด จัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงและทรมานที่สุด ขณะที่ทั่วโลกมีรายงานป่วยปีละกว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตติดอันดับ 4 ของโลก ปีละกว่า 3 ล้านคน แนะวิธีป้องกันดีที่สุดคือการเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยไทยเตรียมเพิ่มกฎหมายควบคุมยาสูบบารากู่ เนื่องจากพิษแฝงในกลิ่นผลไม้แรงกว่าสูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การอนามัยโลกและองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก ได้กำหนดให้วันพุธในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี เป็นวันรณรงค์โรคถุงลมโป่งพองโลก(World COPD Day) ในปีนี้ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขตระหนักว่า โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศอันมีสาเหตุเนื่องมาจากการสูบบุหรี่
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า โรคถุงลมปอดโป่งพองหรือโรคซีโอพีดี (COPD : Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษในรูปของก๊าซหรือฝุ่น เช่น ควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้เข้าไป สารพิษจากควันดังกล่าวจะไปทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสื่อมสภาพ เกิดอาการอักเสบ เป็นโรคที่มีความทุกข์ทรมานและรุนแรงมากที่สุด มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคแล้วจะรักษาไม่หายขาด มีอาการคือหายใจยากลำบาก หอบง่าย ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยทั่วโลกเป็นโรคนี้กว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมอง คาดว่าในอีก 7 ปีหรือในปี 2563 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มอีกร้อยละ 30
ส่วนประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานมีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และถุงลมปอดโป่งพองเข้ารับการรักษาที่ผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข จาก 46 จังหวัด ระหว่างปี 2550-2554 จำนวนสะสม 99,433 คน สาเหตุร้อยละ 90 เกิดมาจากการสูบบุหรี่ และที่น่าสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 40 ปี จำนวนเกือบ 5,000 คน จึงกล่าวได้ว่าผู้ที่สูบบุหรี่ จะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ทุกคน ช้าหรือเร็วขึ้นกับจำนวน ระยะเวลาของการสูบบุหรี่
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ 3 ลด 3 เพิ่ม ในปี 2555ถึง 2557 โดย 3 ลดประกอบด้วย 1.ลดนักสูบรายใหม่ 2.ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น 3.ลดควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และบ้าน ส่วน 3 เพิ่มได้แก่1.เพิ่มกลไกการป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ 2.เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จังหวัด และท้องถิ่น และ3.เพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600 ในปี 2555 มีผู้ใช้บริการกว่า 1 แสนครั้ง ผลจากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 53.9 ล้านคน เป็นผู้สูบบุหรี่ 11.5 ล้านคน นอกจากนี้ พบว่าผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่เป็นประจำมีอายุเฉลี่ยน้อยลง และยังมีผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ในตลาดสดและตลาดนัด ในบ้าน และที่ทำงานอีกด้วย
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ตามปกติพื้นที่ในปอดจะมีถุงลมเล็กๆ กระจายเต็มทั่วปอด ทำหน้าที่ขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจ และนำออกซิเจนเข้าสู่เลือด โดยสารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่ จะทำลายเนื้อเยื่อและถุงลมในปอดให้ฉีกขาดทีละน้อย และรวมตัวกลายเป็นถุงลมขนาดใหญ่ มีผลให้พื้นที่ผิวเนื้อเยื่อปอดลดลง ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ การก่อตัวของโรคถุงลมโป่งพองจะค่อยเป็นค่อยไป ในระยะเริ่มแรกจะเริ่มมีการอุดกั้นของหลอดลมเล็กๆ ยังไม่มีอาการป่วย หากหยุดสูบบุหรี่สำเร็จจะสามารถกลับคืนสู่ปกติได้ หากอยู่ในระยะที่มีอาการป่วยแล้วคือ ไอ เหนื่อยง่าย หายใจหอบ และลำบาก หากหยุดสูบบุหรี่จะช่วยชะลออาการป่วยได้ แต่หากยังสูบบุหรี่ต่อไปอีกจะทำให้เกิดอาการรุนแรง หายใจลำบากและหัวใจวายเกิดขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องพึ่งออกซิเจน รักษาไม่หายขาด ทำได้เพียงการกินยาและพ่นยา ช่วยให้อาการดีขึ้น การป้องกันโรคนี้ที่ง่ายและได้ผลที่สุดคือการไม่สูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงอยู่ในพื้นที่มีการสูบบุหรี่หรือมีควันพิษต่างๆ
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่าวัยรุ่นไทยหันมาสูบบารากู่กันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่มีอันตรายหรือมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรต เนื่องจากเป็นการเผาไหม้กากผลไม้ ควันมีกลิ่นหอม และควันผ่านกระเปาะน้ำก่อนสูดเข้าสู่ร่างกาย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ควันบุหรี่ที่ผ่านน้ำลงไป ยังคงมีสารพิษในระดับสูงทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนักและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การสูบบารากู่แต่ละครั้งมักจะใช้เวลาสูบนาน ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ และเพิ่มการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ โดยผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อความตามข้อคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ในปีหน้า ในระหว่างที่รอพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องงดการอนุญาตการนำเข้า รวมถึงการจำหน่ายสารสกัดนิโคตินในประเทศ ควบคู่กับเครื่องสูบยาชนิดต่างๆ ยกเว้น หมากฝรั่งอดบุหรี่ และแผ่นแปะนิโคตินที่ได้ขึ้นทะเบียนยาเพื่อลดการติดบุหรี่เท่านั้น หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 02-580-9264
20 พฤศจิกายน 2556