กระทรวงสาธารณสุข จับมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า สร้างค่านิยมใหม่และเข้มการใช้กฎหมาย ห้ามขาย - ห้ามดื่มเหล้าในพื้นที่จัดงานลอยกระทง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ต้องห้าม หากพบฝ่าฝืนจับ-ปรับไม่ละเว้น โดยส่งสายตรวจปรามตั้งแต่วันที่ 15- 19 พฤศจิกายน 2556
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในเทศกาลลอยกระทงที่กำลังมาถึงในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รณรงค์ลอยกระทงปลอดเหล้า โดยห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในพื้นที่ที่จัดงานลอยกระทงทั่วประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมดื่มเหล้าฉลองเทศกาล และส่งเสริมเทศกาลลอยกระทงของไทยเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและทรงคุณค่า ไม่ให้ถูกทำลายให้เสียความเป็นเอกลักษณ์จากปัญหาที่มาจากการดื่มเหล้าเช่น อุบัติเหตุจราจร อาชญากรรม หรือการมอมเมาเยาวชนหญิงและล่อลวงไปในทางที่ไม่เหมาะสมได้
แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าวว่า เทศกาลวันลอยกระทงปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ และประสานการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตรวจสอบพื้นที่ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในพื้นที่ที่ประกาศห้าม ตั้งแต่วันที่ 15 - 19 พฤศจิกายน 2556 โดยให้ผู้ประกอบการ แม่ค้า พ่อค้า ปฏิบัติตามกฎหมาย 4 เรื่องคือ 1.ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 2.ขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด 3.ห้ามขายในพื้นที่ห้ามขาย เช่น วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ ซึ่งสถานที่ใช้ลอยกระทงส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ริมคลอง ริมแม่น้ำ เป็นต้น และ4.ห้ามโฆษณา ลด แลก แจก แถม หรือสื่อสารการตลาดทุกชนิด หากพบกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมายทันทีโดยไม่ละเว้น มีโทษสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี หรือปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนลดละเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และกวดขันเข้มงวดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดและป้องกันปัญหาที่มาจากการดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้ เนื่องจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เหล้าและบุหรี่เป็น 2 ใน 4 ตัวการหลักทำให้อายุเฉลี่ยคนไทยสั้นลง และเป็นสาเหตุก่อโรคต่างๆกว่า 60 โรค ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2554 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 17 ล้านคน
ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ ย้ำเตือนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ผู้ประกอบการทั้งกทม.ปริมณฑลและต่างจังหวัดทราบและปฏิบัติตามกฎหมาย มาเป็นเวลา 4 - 5 ปี ได้รับความร่วมมือดีขึ้นเรื่อยๆ โดยการฝ่าฝืนกว่าร้อยละ 90 จะพบในช่วงเทศกาลสำคัญ ในปี 2555 ได้ตรวจจับ ดำเนินคดีทั่วประเทศรวม 4,293 ราย ประกอบด้วยในเขตกทม. 2,067 ราย ต่างจังหวัด 2,226 ราย และได้จัดส่งทีมเฉพาะกิจลงในพื้นที่ในรายที่มีปัญหาซับซ้อน ยากต่อการดำเนินงานของพื้นที่ และลงโทษรวมอีก 700 ราย คดีสำคัญๆ ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการใช้ดนตรี (music marketing) หรือกีฬา (sport marketing) เช่นกรณีการจัดงานคอนเสิร์ตที่มีการขายเบียร์ในสถานศึกษาที่จังหวัดกระบี่ และล่าสุดมีการร้องเรียนให้ไปตรวจการจัดกิจกรรมเดียวกัน ที่ สวนสาธารณะ จังหวัดสระแก้ว
*********************************************16พฤศจิกายน 2556