วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2556) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ทรงยศ  ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เป็นตึก 2 ชั้น มีห้องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ห้องชันสูตรศพ มีแพทย์ประจำการนอกเวลา  ใช้งบก่อสร้างจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ปี 2555 รอบที่ 1 วงเงิน 25,250,000 บาท สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2556   เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งริมถนนมิตรภาพ เส้นทางไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้บริการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรและเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ซึ่งมีเฉลี่ยวันละ 101 คน 

นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการทศวรรษความปลอดภัยทางถนน เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2554 - 2563 โดยตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี ขณะนี้การดำเนินงานผ่านมา 3 ปี แนวโน้มผู้เสียชีวิตยังไม่ลดลง ข้อมูลจาก สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร 14,033 ราย คิดเป็น 22 ต่อประชากรแสนคน ข้อมูลล่าสุดในปี 2555 มีผู้เสียชีวิต 14,059 ราย เฉลี่ยวันละ 38 ราย เมื่อรวมยอดแล้วเท่ากับการโดยสารรถบัส 365 คันต่อปี    บาดเจ็บสาหัสกว่า 2 แสนราย  มูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท    ดังนั้นระยะเวลาที่เหลืออีก 7 ปี จะเร่งดำเนินการโดยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไปจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ร้อยละ 7 ต่อปี หรือไม่เกิน 7,000 ราย หรือลดลงกว่าเดิม 50 เปอร์เซ็นต์  เพื่อให้อัตราผู้เสียชีวิตในปี 2563 เหลือเพียง 11 ต่อประชากรแสนคนเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเน้น 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบฐานข้อมูลเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุจาจรให้มีฐานเดียว เป็นฐานกลางประเทศ   โดยข้อมูลองค์การอนามัยโลกระบุไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 26,000 คน มากเป็นอันดับ 3 ของโลก ขณะที่รายงานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานในประเทศไม่ตรงกัน  จึงต้องจะทำข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ให้เป็นเอกภาพตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย  ได้มอบให้กรมควบคุมโรค เชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและบริษัทกลางประกันภัย กระทรวงคมนาคม  เพื่อพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลออนไลน์ วิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตได้ครบถ้วนที่สุด เพื่อนำมาใช้วางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง คาดว่าจะประกาศใช้เป็นทางการได้ภายในปี 2557

          2. ด้านการป้องกันการบาดเจ็บและการเสียชีวิต เน้นดำเนินการถึงชุมชนผ่านกลไกอำเภอควบคุมโรคเข้มแข็ง และเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) เน้นใน 40 จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรสูง จังหวัดละอย่างน้อย 1 อำเภอ เป็นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่เช่นผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้งการวิเคราะห์ปัญหา  การวางแผนแก้ไข การปฏิบัติงานร่วมกัน  และการประเมินผล    3. พัฒนา ระบบการรักษา โดยเฉพาะระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และคุณภาพห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลือที่จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ภายใน 10 นาทีที่ได้รับแจ้งเหตุ และได้รับการดูแลรักษาที่ห้องฉุกเฉิน  การรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการให้น้อยที่สุด  

************************** 5 พฤศจิกายน 2556



   
   


View 10    05/11/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ