วันนี้ (5 กันยายน 2556) ที่ทำเนียบรัฐบาล กทม. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมหารือเรื่องการดำเนินการกลุ่มแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตามและบุตร (Migrant) ที่เหมาะสมของประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และมีผู้แทนจากองค์กรต่างประเทศ อาทิ องค์การอนามัยโลก ยูเอ็น ยูนิเซฟ  อียู ไอโอเอ็ม ไจก้า ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย รวมทั้งเอ็นจีโอ เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้

 

           นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายดูแลสุขภาพประชาชนทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย โดยไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในแม่และเด็กที่ติดตามมากับแรงงานต่างชาติ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ ทำร้ายเด็ก  โสเภณี ยาเสพติด และปัญหาอาชญากรรม เป็นการดูแลตอบแทนที่คนกลุ่มนี้มีส่วนร่วมเข้ามาสร้างจีดีพีให้กับประเทศไทย โดยรัฐบาลพบว่าคนเหล่านี้ยังมีปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนของคนกลุ่มนี้ต้องผ่านขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติที่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายมาก และในครั้งนี้ได้มอบให้กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้คนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทย โดยไม่ต้องพิสูจน์สัญชาติ โดยลดขั้นตอนให้มาขึ้นทะเบียนด้วยขั้นตอนง่ายๆ เช่น พิมพ์ลายนิ้วมือ ถ่ายรูป หากมีปัญหาสามารถตามตัวได้ง่ายเพราะมีข้อมูลและรูปถ่าย  เป็นครั้งแรกที่นำมาตรการทางสาธารณสุขมาดูแลแรงงานต่างด้าวทั้งผู้ติดตามนอกระบบ 3 สัญชาติคือ พม่า กัมพูชา และลาว

                    

                    

ขณะนี้คาดว่าในไทย มีแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามนอกระบบรวม 3 ล้านคน ซึ่งจำนวนคนมาก ก็จะยิ่งใช้ทรัพยากรในประเทศมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน ขอรับเรื่องนี้เข้ามาดำเนินการ โดยจะเข้าไปจดทะเบียนแบบมีเงื่อนไขว่าจะได้รับบริการสาธารณสุข   หากซื้อประกันสุขภาพในราคาที่เหมาะสม คือเด็กวันละ 1 บาท จะได้รับการศึกษาฟรีด้วย  ส่วนผู้ใหญ่เสียค่าประกันสุขภาพคนละ 2,200 บาทต่อปี และเพิ่มค่าตรวจร่างกายอีก 600 บาทต่อปี  จะได้รับสิทธิการรักษาครอบคลุมโรคเอดส์  อนามัยแม่และเด็ก  ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ14-15 บาท หรือประมาณ  5 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรง 300 บาทต่อวัน  เป็นอัตราที่เหมาะสมตามหลักมนุษยธรรม ซึ่งไทยต้องเสียงบประมาณในการดูแลคนกลุ่มนี้ด้วยบ้าง  แต่จะเป็นผลดีต่อประเทศ ช่วยลดปัญหาทางสังคม อาชญากรรม ลดค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุข รวมทั้งควบคุมโรคต่างๆ และสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ

                   

นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเสนอการจัดหาที่อยู่ให้คนกลุ่มนี้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นนิคม เป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวจะหารือกับกระทรวงศึกษาธิการในการปรับปรุงระบบการศึกษา โดยขอให้ผลิตบุคลากรระดับอาชีวศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มคนทำงานในภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมมากขึ้น  มีการปรับค่าแรงให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาลดการใช้แรงงานจากคน โดยได้เชิญองค์กรนานาชาติ เอ็นจีโอ มูลนิธิต่างๆ มาหารือและช่วยกระตุ้นคนเหล่านี้ออกจากใต้ดิน ขึ้นมาจดทะเบียนด้วย ซึ่งองค์กรนานาชาติยินดีสนับสนุนงบประมาณสนับสนุนการกระตุ้นให้คนเหล่านี้มาลงทะเบียน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมในเรื่องการต่อต้านปัญหาค้ามนุษย์

 *************************** 5 กันยายน 2556



   
   


View 14    05/09/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ