วันนี้( 15 มิถุนายน 2556 ) ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดงานวันรณรงค์เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียนประจำปี 2556 ( ASEAN Dengue Day 2013)  ซึ่งจัดพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และพร้อมอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ปีนี้มีคำขวัญว่า อาเซียนร่วมใจปลอดภัยไข้เลือดออก (ASEAN Unity for Dengue-Free Community) โดยนำขบวนคาราวานเดินรณรงค์เพื่อพิชิตไข้เลือดออกด้วยยุทธการ 5 ป. 1 ข. คือปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับ ปฏิบัติ และขัดไข่ยุงลาย และแจกยาทากันยุงและเวชภัณฑ์ เอกสารความรู้เรื่องการป้องกันควบคุมไข้เลือดออกแจกให้ประชาชน

          นายแพทย์ชลน่าน ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ปัญหาของโรคไข้เลือดออกไม่ได้มีเฉพาะในไทย พบในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นทั้งภูมิภาคอาเซียนและในเอเชียบางประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเหมาะต่อการขยายพันธุ์ของยุงลายตัวพาหะนำโรค รัฐมนตรีสาธารณสุข 10ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม มาเลเซียฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน กัมพูชา ลาว และ ไทย ได้มีมติกำหนดให้วันที่ 15มิถุนายนทุกปี ให้เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียนเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2554 เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใน 10 ประเทศอาเซียนซึ่งมีประมาณ 600 ล้านคน ตระหนักในการป้องกันโรคและร่วมกันแก้ปัญหา ลดความเสี่ยงการระบาดใหญ่ของโรคไข้เลือดออก สร้างชุมชนอาเซียนให้ปลอดไข้เลือดออก เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในปีนี้ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมนานาชาติเรื่องไข้เลือดออกที่กรุงฮานอย ในวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ด้วย
 
          สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศอาเซียนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง ข้อมูลจนถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2556มีรายงานผู้ป่วยใน 6 ประเทศรวม 123,206 ราย ดังนี้ ฟิลิปปินส์ 37,895ราย เวียดนาม 13,903 ราย มาเลเชีย10,401ราย สิงคโปร์ 8,483ราย ลาว 6,377 ราย กัมพูชา 2,538 ราย และในส่วนของประเทศไทย ตั้งแต่มกราคม- 11 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วย 43,609 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี พ.ศ.2555 กว่า 3 เท่าตัว เสียชีวิต 50 ราย หากไม่เร่งควบคุม โดยเฉพาะความร่วมมือจากประชาชนทุกคน คาดว่าในช่วง 3 เดือนนี้คือมิถุนายน – สิงหาคม จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว เนื่องจากมีปริมาณยุงลายมาก
 
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ตั้งวอร์รูมต่อสู้โรคไข้เลือดออกอย่างเข้มข้น เพื่อลดป่วย ลดตาย โดยรณรงค์ความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน ช่วยกันลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทำลายลูกน้ำยุงลาย ด้วยวิธีปฏิบัติ 5 ป. 1 ข.คือ1.ปิดภาชนะขังน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ 2.เปลี่ยนน้ำแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน ตัดวงจรลูกน้ำกลายเป็นยุง 3.ปล่อยปลากินลูกน้ำเช่น ปลาหางนกยุง ปลากัด ในภาชนะใส่น้ำถาวร 4.ปรับปรุง ทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาด ลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักยุงลาย 5.ให้ปฏิบัติจนเป็นนิสัย และขัดล้างไข่ยุงลายตามผนังภาชนะ ทำทุกที่ ทั้งในบ้าน คอนโด สำนักงาน ศาสนสถาน โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ หากไม่มีลูกน้ำยุงลาย ก็จะไม่มีไข้เลือดออก
 
          ด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า อาการของโรคไข้เลือดออก ที่สังเกตง่ายๆคือ ไข้สูงลอย ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง กดเจ็บชายโครงด้านขวา มักไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้ง 2 อย่างในเวลาเดียวกัน ให้รีบไป พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะไข้ทุเลา หรือที่เรียกว่าสร่างไข้ แทนที่ผู้ป่วยจะรู้สึกแจ่มใสขึ้น    แต่จะกลับซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ เป็นอาการช็อค มีอันตรายถึงชีวิต ขอให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที ช่วงนี้เป็นช่วงการระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงขอย้ำเตือนอย่านิ่งนอนใจ จนไปพบแพทย์ช้า ทำให้อาการหนัก รักษายากและอาจเสียชีวิตได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามที่ศูนย์บริการข้อมูลสายด่วนฮอตไลน์กระทรวงสาธารณสุขหมายเลข 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 
 
**************************************** 15 มิถุนายน 2556
 
 


   
   


View 21    15/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ