นายแพทย์ชลน่าน  ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ ว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังสถานการณ์และวิเคราะห์ทุกสัปดาห์มาตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากนักวิชาการคาดการณ์ว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวจากปี 2555 ตั้งแต่มกราคม – 4 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วย 39,029 ราย กระจายในทุกจังหวัด ระบาดหนักในเขตเมือง เสียชีวิต 44 ราย หากมาตรการป้องกันควบคุมโรคในปีนี้ไม่ดีพอ คาดว่าผู้ป่วยจะเพิ่มถึง 1 – 1.5 แสนราย ซึ่งหลักระบาดวิทยาของโรคนี้จะระบาดปีเว้นปี หรือทุก 2 ปี  

ยุทธศาสตร์ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มี 3 มาตรการ  คือ 1.รณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้และตระหนัก ร่วมมือป้องกันโรค ไม่ให้มีการเจ็บป่วย โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยช่วยกันทำลายลูกน้ำไม่ให้กลายเป็นยุงลาย ใช้ยุทธศาสตร์ 5 ป.1 ข.คือ ป.ที่ 1 ปิดฝาภาชนะไม่ให้ยุงวางไข่ ซึ่งยุงลายชอบวางไข่น้ำสะอาด ใส นิ่ง เช่นโอ่งน้ำ ป.ที่ 2 เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่นน้ำหล่อขาตู้ ป.ที่ 3 ปล่อย ปลากินลูกน้ำเช่นปลาหางนกยูงลงในอ่างบัว  ป.ที่ 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ทำลายขยะ ไม่ให้เป็นแหล่งขังน้ำให้ยุงวางได้ ป.ที่ 5 คือปฏิบัติให้เป็นนิสัย และ 1 ข. คือขัดล้างภาชนะด้านในเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย    

2.การป้องกันเฉพาะตัวบุคคลในกรณีที่มีการระบาดหรือมีผู้ป่วยในพื้นที่จะต้องป้องกันการแพร่เชื้อ โดยป้องกันยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไปกัดคนที่มีเชื้อและนำเชื้อไปปล่อยให้คนปกติ ให้นอนในมุ้ง และกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านหรือที่อยู่อาศัยของตน หากไม่มีการระบาดในพื้นที่จะไม่พ่นหมอกควันเพราะไม่ใช่มาตรการป้องกันที่ได้ผล 3.การดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อลดการเสียชีวิต เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรคไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2556 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้น จากการติดตามสถานการณ์พบว่าอัตราป่วยแล้วเสียชีวิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในหนุ่มสาว เนื่องจากเข้าใจผิดว่าไข้เลือดออกเป็นเฉพาะในเด็ก มักไปซื้อยากินเองหรือไปรักษาที่คลินิกเมื่อไม่หายหรือมีอาการหนักแล้วจึงไปโรงพยาบาล ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เปิดสายด่วนไข้เลือดออกบริการให้คำปรึกษาแก่ประชาชน ทางหมายเลข 089 -2042255 ตลอด 24 ชม.

“สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้คือสายพันธุ์ โดยปกติไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทย มี 4 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4  หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต  กล่าวคือจะไม่ป่วยจากสายพันธุ์เดิมอีก และจะมีภูมิคุ้มกันต่ออีก 3 สายพันธุ์ในระยะสั้นๆประมาณ 6-12 เดือน เมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 และเป็นเชื้อต่างสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงที่สุด จะทำให้เกิดอาการช็อค  เนื่องจากพลาสม่ารั่วออกจากเส้นเลือด เลือดจึงมีความเข้มข้นสูง ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้ง่าย ดังนั้นคนที่มีอายุมากส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว จึงมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้มาก” นายแพทย์ชลน่านกล่าว  

นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า มาตรการเพื่อลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก จะเน้นตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยให้เร็ว ดังนั้นหากมีอาการไข้สูงติดต่อกัน 2 วัน กินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้นึกถึงโรคนี้ เพราะขณะนี้เป็นฤดูกาลระบาดของไข้เลือดออก ให้รีบไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้จะเข้าสู่ภาวะไข้เลือดออกช็อค เป็นอันตรายมากและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ ****มิถุนายน2/5   ***********     11  มิถุนายน 2556
 


   
   


View 11    12/06/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ