โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนไทยเตรียมสภาพจิตใจ รับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในวันพรุ่งนี้ ขอให้ถือเป็นเหตุการณ์ปกติทั่วไป ไม่ใช่การสิ้นหวังหรือหมดหนทาง ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์อาจเครียดได้บ้าง แต่มีทางออกโดยให้ซ้อมเครียดไว้ล่วงหน้า และหาวิธีจัดการความเครียดโดยไม่กระทบคนอื่น ส่วนผู้ที่เข้ากลุ่มรับฟังข่าวพร้อมกัน ขอให้ยึดพระราชดำรัสในหลวง หรือคำสอนศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเตรียมจิตใจของประชาชน ในการรับฟังข่าวการตัดสินคดีประวัติศาสตร์ ยุบพรรคการเมืองของประเทศไทย ซึ่งจะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (30 พฤษภาคม 2550) ว่า ประเทศไทยขณะนี้มี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ด้านหนึ่งเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมือง ผู้ที่ฟังข่าวสารแล้วจะให้ความรู้สึกแบบร้อนแรง อีกด้านเป็นการประชุมเนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ประชาชนที่อ่านข่าวสารแล้วจะให้ความรู้สึกที่เย็นใจ เนื่องจากได้รับฟังคำสอนของพระเถระชั้นสูงระดับโลก นับเป็นความโชคดีของคนไทยทุกคนที่มีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งคำสอนตามหลักของทุกศาสนา ล้วนเป็นหนทางนำไปสู่ความสุข คลายความทุกข์ร้อนทางอารมณ์ได้เหมือนกัน นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ตามปกติ เมื่อมีเรื่องกระทบจิตใจทั้งดีและไม่ดี จะทำให้จิตใจเกิดการเสียสมดุล โดยเฉพาะความเครียด ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่ความผิดปกติ เช่น ความเครียดที่เกิดขึ้นในเวลาสอบแข่งขันเรียนต่อ หากสมหวังจะเกิดความสุข ความพอใจ แต่หากไม่ประสบผลดังที่หวัง ก็จะเกิดความทุกข์ ความเสียใจตามมา ซึ่งสังคมไทยขณะนี้ มีการตื่นตัวเรื่องข้อมูลข่าวสารดีขึ้น และเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้รวดเร็วมาก คนในสังคมจึงต้องมีการเตรียมใจให้พร้อมรับข่าวสารทั้งทางบวกและทางลบ ไม่ว่าดีหรือไม่ดี โดยเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นโดยตรง ขอให้มีการฝึกซ้อมความเข้มแข็งจิตใจ เพื่อเตรียมตัวรับเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่ส่งผลกระทบจิตใจและสามารถก้าวผ่านวิกฤตที่เผชิญได้อย่างเหมาะสม นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวต่อไปว่า ในการเตรียมตัวรับเหตุการณ์ มี 2 ระดับ คือระดับบุคคลและระดับกลุ่ม โดยระดับบุคคล แนะนำให้สำรวจสภาพอารมณ์ของตนเองก่อน ด้วยการจำลองเหตุการณ์หรือคิดไว้ล่วงหน้า ว่าถ้าเกิดขึ้นจริง จะมีผลกระทบต่ออารมณ์ตนเองมากน้อยแค่ไหน เช่น บางคนอาจจะแค่อารมณ์เปลี่ยนแปลง คือหงุดหงิด ฉุนเฉียว แต่บางคนอาจจะมีทั้งอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางก้าวร้าว ทั้งคำพูด ท่าทาง การแสดงออก เมื่อค้นพบระดับอารมณ์ของตัวเองแล้ว ให้คิดหาทางออกล่วงหน้า หากฟังข่าวแล้วเกิดอารมณ์รุนแรง ก้าวร้าว รับไม่ได้ แนะนำว่าไม่ควรฟังต่อ แต่หากยังอยากรู้อยากฟังต่อ ขอให้ฟังอย่างมีสติและควบคุมตัวเองให้ได้ จะได้ไม่ส่งผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ส่วนการจัดการอารมณ์ระดับกลุ่ม เพื่อนฝูงมีความสำคัญมาก เนื่องจากกลุ่มคนมีความหลากหลายทางอารมณ์ รัก ชอบ เกลียดแตกต่างกัน หากคนที่สนใจ มีความชอบเหมือนกันและมาอยู่รวมกัน ก็จะเสริมความอยาก ความต้องการไปทางเดียวกัน จุดนี้ขอให้มีความระมัดระวัง เพราะจะเกิดแรงผลักดันที่รุนแรงมหาศาล ส่งผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ต้องอาศัยการจัดการเพื่อลดความรุนแรงในกลุ่ม โดยให้ผู้ใหญ่ที่กลุ่มให้ความเคารพนับถือ เป็นผู้คอยเตือนสติ ชี้ทางที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกัน โดยอาจน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือแนวคำสอนทางศาสนา ซึ่งมุ่งให้คนในสังคมอยู่รวมกันอย่างมีความสุขอยู่แล้ว มาเป็นจุดหลอมความคิดของกลุ่มให้สงบลง ทุกกลุ่มในสังคมก็จะสามารถก้าวผ่านวิกฤติไปด้วยดีด้วยกัน ********************************29 พฤษภาคม 2550


   
   


View 12    29/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ