รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรมในการจัดสร้างโรงงานและผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พร้อมให้ทบทวนยุทธศาสตร์วัคซีนของประเทศ จัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วม ยืนยันโรงงานวัคซีนต้องสร้างให้เสร็จ เพื่อความมั่นคงของประเทศด้านวัคซีน

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2556 ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นกรณีการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขององค์การเภสัชกรรม เพื่อให้ความเห็นแก่คณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม ทั้งในเรื่องวิชาการและการบริหารจัดการควบคู่กัน เพื่อให้องค์การเภสัชกรรมนำแนวทางนี้ไปใช้ เบื้องต้นที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา 1 ชุด มี นายแพทย์ประยูร กุนาศล ที่ปรึกษาคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เป็นประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา นายแพทย์พรเทพ  ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นเลขานุการคณะ  เพื่อพิจารณาตัดสินใจเดินหน้าในการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนแบบใด และต้องเดินหน้าสร้างโรงงานวัคซีนให้แล้วเสร็จ เนื่องจากโรงงานดังกล่าวเป็นสมบัติของชาติ ประเทศต้องได้ประโยชน์จากโรงงานแห่งนี้มากที่สุด เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงทางด้านวัคซีนแม้ว่าจะใช้เงินลงทุนในการผลิตต่อโด๊สสูงกว่าราคาขายในท้องตลาดก็ตาม เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เป็นเรื่องที่สำคัญ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออย่างทันท่วงทีหากเกิดการระบาดทั่วโลก 

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ได้ขอให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติทบทวนแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนของประเทศ ให้จัดลำดับความสำคัญของวัคซีน ทั้งชนิดวัคซีนที่จะผลิตเอง เช่นวัคซีนพิษสุนัขบ้า ไวรัสตับอักเสบบี คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ไข้หวัดใหญ่ และโปลิโอ การสนับสนุนการวิจัยและการผลิต โดยเฉพาะแหล่งความรู้ที่มีอยู่ขณะนี้มีความทันสมัยหรือไม่ รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการผลิต และไม่แย่งตลาดกับองค์การเภสัชกรรม

สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและบริษัทภาคเอกชนเพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งมีการเสนอเงื่อนไขต่างๆ เบื้องต้นภาครัฐจะให้การสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัย หลังจากนั้นมีการพูดถึงการนำผลวิจัยไปใช้ประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งการร่วมทุน และเรื่องสิทธิพิเศษต่างๆ  โดยคณะกรรมการได้แก้ไขในเรื่องสิทธิพิเศษโดยไม่บังคับว่าโรงพยาบาลต้องมาซื้อผ่านบริษัทที่ร่วมลงทุนเท่านั้น และให้มีมาตรการต่อรองราคาต้นปี และตรวจสอบราคาตลาด ณ ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องซื้อตามสิทธิพิเศษ และให้ซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมเนื่องจากเป็นองค์กรภาครัฐ มีความน่าเชื่อถือ ไม่ให้มีการขายตรงระหว่างบริษัทที่ร่วมลงทุนกับโรงพยาบาล เกิดความโปร่งใส และไม่หวังผลกำไรเกินควร  ต้นทุนการผลิตต่ำอย่างไรก็ตาม คณะกรรมการได้มีความคิดเห็นอีกว่า หากจะทำการร่วมมือกับภาคเอกชนต่อไป จะต้องมีการแข่งขันที่ชัดเจน และต้องมีการสนับสนุนการผลิตจริงๆ ไม่ใช่การสั่งเข้ามาบรรจุในประเทศไทย ที่สำคัญไม่ใช่ 10 ปีล้มเหลวและมาขอต่อกันใหม่ ซึ่งโครงการนี้เป็นการทำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 13 มีนาคม 2555 นายแพทย์ประดิษฐกล่าว                 

**********************   27 พฤษภาคม 2556



   
   


View 17    29/05/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ