นายกรัฐมนตรี ประธานเวิร์กช็อป 3 กองทุนสุขภาพ ครั้งที่ 7 เดินหน้าสร้างความเสมอภาคกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ หลังพบปัญหาประชาชนใช้สิทธิยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายบริหารกองทุนสูง แต่จ่ายสินไหมไม่ถึง 50 เปอร์เซนต์ มีมติตั้งคณะกรรมการให้ รมว.คลัง เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนเข้าถึงบริการสะดวกรวดเร็วเป็นธรรม จ่ายเบี้ยประกันเหมาะสม ขณะที่ รมว.สธ. เผยผลสำเร็จโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ประชาชนเข้าถึงบริการกว่า 20,000 ราย

วันนี้ (26 เมษายน 2556)  ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงนโยบายเรื่องการสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐครั้งที่ 7 ซึ่งที่ประชุมได้มีวาระการพิจารณาเรื่อง ข้อเสนอการพัฒนาการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ และความก้าวหน้าการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น ซึ่งเป็นความต่อเนื่องของรัฐบาลในการดำเนินการตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและบูรณาการสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างถ้วนหน้าและเสมอภาคกัน

นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กองทุนผู้ประสบภัยจากรถนั้น ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาเรื่องค่าเบี้ยประกัน เนื่องจากมีสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูง แต่มีการจ่ายสินไหมทดแทน ไม่ถึงครึ่ง เช่น ในปี 2551 ค่าเบี้ยประกันภัย 10,631 ล้านบาท แต่จ่ายสินไหมทดแทน 4,535 ล้านบาท หรือร้อยละ 43  มีค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 4,713 ล้านบาทหรือร้อยละ 45  และมีกำไร 1,311 ล้านบาทหรือร้อยละ 12   ขณะเดียวกันกระบวนการมีความยุ่งยาก ทั้งการใช้สิทธิของประชาชนผู้ประสบภัย และเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล มีความซ้ำซ้อนของภารกิจตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และระบบหลักประกันอื่น เช่น ในปี 2554 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. จ่ายค่ารักษากรณีประสบภัยจากรถแทนประมาณ 1,300 ล้านบาท

   

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถได้รับบริการรักษาพยาบาลตามความจำเป็น โดยที่ระบบต้องอำนวยความสะดวก เพื่อให้เข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม มีการจ่ายค่าเบี้ยประกันที่เหมาะสม และการบริหารจัดการที่ต้องมีประสิทธิภาพ ทั้งการเบิกจ่ายค่ารักษา การแจ้งใช้สิทธิ ลดความซ้ำซ้อน ที่ประชุมโดยนายกรัฐมนตรีจึงได้มีมติตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาการคุ้มครองสิทธิระบบการคุ้มครองสิทธิของผู้เอาประกัน ตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้นำเสนอแนวทางการแก้ไขในการประชุมครั้งต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนในรอบ 1 ปี  ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555-31 มีนาคม 2556    พบว่ามีประชาชนเข้าถึงบริการ  22,453 ราย   แบ่งเป็นสิทธิข้าราชการ  11,419  ราย  หรือร้อยละ 50.86   สิทธิหลักประกันสุขภาพหรือ 30 บาทเพิ่มคุณภาพ 9,101 รายหรือร้อยละ 40.53  สิทธิประกันสังคม 1,462 รายหรือร้อยละ 6.51 และสิทธิอื่น ๆ 471 รายหรือร้อยละ 2.1 จากโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยไปใช้บริการ 245 แห่งจากทั้งหมด 353 คิดเป็นร้อยละ 69.4  จำนวนเงินที่จ่ายชดเชยแล้ว 328.4 ล้านบาท

   

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า การดำเนินการที่ผ่านมายังพบประชาชนถูกเรียกเก็บเงิน 1,148 ครั้ง  หรือเพียงร้อยละ 5.35 ของจำนวนการใช้บริการทั้งหมดกว่า 20,000 ครั้ง แม้เป็นสัดส่วนที่น้อยแต่ก็ต้องมีการแก้ไข โดยกระทรวงสาธารณสุขจะชี้แจงทำความเข้าใจโรงพยาบาลเอกชน เพื่อลดปัญหาการเรียกเก็บเงินจากประชาชน ร่วมกับการพัฒนาระบบตรวจสอบเวชระเบียนเพื่อให้มีความถูกต้องโปร่งใส และพัฒนาระบบประเมินภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้วเมื่อ 1 เมษายน 2556  และให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาออกกฎกระทรวงหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เพื่อให้สถานพยาบาลดูแลรักษาผู้ป่วยจนพ้นวิกฤติตามเจตนารมณ์ของนโยบาย โดยไม่เก็บเงินประชาชนแต่เบิกชดเชยจากหน่วยงานกลางเบิกจ่าย (Clearing House) ของ สปสช. แทน ขณะที่การประสานหาเตียงเคลื่อนย้ายเมื่อพ้นภาวะวิกฤติ ในพื้นที่ กทม. ยังไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเฉลี่ย 3 วัน โดยเฉพาะสิทธิข้าราชการซึ่งไม่มีหน่วยบริการประจำ การแก้ไขนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นเจ้าภาพและกำกับติดตามการจัดระบบสำรองเตียง โดยทางโรงพยาบาลราชวิถีร่วมเป็นศูนย์กลางในการประสานหาเตียงกับโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์

 

 

 

 

 ***********************************  26 เมษายน 2556

 



   
   


View 18    26/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ