รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข เข้มข้นเฝ้าระวังไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ปีกทุกชนิดอย่างใกล้ชิดหลังพบมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) รายแรกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมเสนอประชุมคณะกรรมการชาติ เพื่อรับมือสถานการณ์ในประเทศวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมวาระเสนอ ครม. พร้อมแนะผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศหากมีอาการป่วยไข้หวัด ให้รีบพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ส่วนประชาชนทั่วไปขอให้รักษาสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เช่น ล้างมือบ่อยๆ ผู้ป่วยไข้หวัดขอให้สวมหน้ากากอนามัย และแนะนำหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกไม่ว่าป่วยหรือตาย
              จากกรณีข่าวการพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายแรกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นชายวัย 53 ปีทำงานที่เมืองซูโจว ประเทศจีน มีอาการป่วย 3 วันก่อนเดินทางกลับไต้หวันเข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2556 ขณะนี้อาการค่อนข้างหนัก
               ในวันนี้ (25 เมษายน 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ย้ำเตือนให้ทุกประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ที่พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่จีนอย่างใกล้ชิด สถานการณ์ล่าสุดในประเทศจีน องค์การอนามัยโลกรายงานถึงวันที่ 23 เมษายน 2556 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 108 ราย เสียชีวิต 22 ราย  ในส่วนของประเทศไทยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อชนิดนี้ ทั้งในคน ในสัตว์ปีกที่เลี้ยงและนกในธรรมชาติแต่อย่างใด รวมทั้งไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมรับมือเต็มที่ทั้ง 4 ระบบคือ การเฝ้าระวังป้องกันโรค การดูแลรักษา การควบคุมการแพร่ระบาดโรค และระบบการตรวจชันสูตรยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายมหาวิทยาลัย มีการประสานการทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับกรมปศุสัตว์กระทรวงเกษตรฯและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  มาตรการที่เน้นหนักขณะนี้คือการเฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถตรวจจับสัญญาณการระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจที่มีอาการรุนแรงและรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคปอดบวม และในระดับพื้นที่ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่มีจำนวนกว่า 1 ล้านคน เฝ้าระวังทั้งในคน และในสัตว์ปีกที่เลี้ยงและสัตว์ปีกธรรมชาติทุกวัน หากพบให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันทีจนถึงขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณผิดปกติแต่อย่างใด
               นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 จะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2556 – 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่ากระทรวงและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กทม. เป็นกรรมการ ร่วมประเมินสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมทุกระบบ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในการรับมือปัญหาของประเทศให้มีความพร้อมในระดับสูงสุด                                     
              ทางด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่พบหลักฐานการติดต่อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 จากคนสู่คน และยังไม่พบเชื้อนี้ในประเทศไทย และยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางไปต่างประเทศก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาและการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด และขอให้ประชาชนช่วยรักษาพฤติกรรมที่ดีตามได้เคยปฏิบัติมาสมัยไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ เช่น การล้างมือ หากป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้พักผ่อนที่บ้านจนกว่าจะหาย และใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกทั้งเป็นและตาย โดยเฉพาะเด็กๆขอให้ผู้ปกครองเพิ่มความระมัดระวัง ส่วนในกลุ่มของผู้ทำงานสัมผัสสัตว์ปีก เช่นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ผู้เลี้ยง ผู้ขนส่ง ชำแหละและจำหน่ายสัตว์ปีก ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ประการสำคัญจะต้องไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตามมาชำแหละขายหรือรับประทานอย่างเด็ดขาด
********************************** 25 เมษายน 2556


   
   


View 11    25/04/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ