“สมศักดิ์” ประชุมผู้บริหาร สธ.นัดแรกปี 68 จัดเต็มของขวัญวันเด็ก-วันผู้สูงอายุ เพิ่มเข้าถึงการรักษาขั้นสูง ปลื้มมีคนนับคาร์บแล้ว 11.8 ล้านคน เดินหน้าให้ได้ 50 ล้านคน ภายในปี 2568
- สำนักสารนิเทศ
- 332 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายใช้กลยุทธ์ สร้างอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว หรืออสต. 3 ชาติ พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อเป็นสื่อบุคคลร่วมดูแลสุขภาพของคนต่างด้าว เชื่อมั่นเพิ่มประสิทธิภาพระบบป้องกันและควบคุมโรคเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ลดช่องว่างด้านภาษา หลังพบ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานต่างด้าวมากเป็นอันดับ 2 ในประเทศ ประสบผลสำเร็จ ไม่พบโรคอุจจาระร่วงระบาดในพื้นที่พักอาศัย ต่างด้าว เป็นที่สนใจ 25 ประเทศ โดยในปีนี้จะให้ อสต.รณรงค์ขายบัตรประกันสุขภาพ ให้ต่างด้าวทุกคนด้วย
เช้าวันนี้ (28 มีนาคม 2556) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ของจ.สมุทรสาคร ที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย เนื่องในวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ และตรวจเยี่ยมการให้บริการสาธารณสุขในแรงงานต่างด้าว และเยี่ยมกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว หรืออสต.ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร และให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขของประเทศ ผลจากการเฝ้าระวังโรคติดต่อในประชากรต่างด้าว ในโครงการเฝ้าระวังโรคในราบลุ่มแม่น้ำโขงในช่วง 3 ปีมานี้ พบโรคที่เป็นปัญหาหลักในกลุ่มประชากรต่างด้าว 3 โรคได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคมาลาเรีย และโรคหัด ขณะนี้คาดว่ามีต่างด้าวเข้ามาใช้แรงงานในประเทศ ประมาณ 2 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ที่จ.สมุทรสาคร เกือบ 4 แสนคน มากเป็นอันดับ 2 ในประเทศ ประมาณร้อยละ 80 ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ที่เหลือเป็นลูกจ้างตามบ้าน เกษตรกรรม และประมง ในปี 2555-2556 แรงงานต่างด้าวในจ.สมุทรสาคร ขึ้นทะเบียนถูกต้อง 213,340 คน
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อคนไทย มีนโยบายให้แรงงานและผู้ติดตามทุกคนที่ไม่ได้ทำงานในโรงงาน ตรวจสุขภาพ คิดค่าตรวจ 600 บาท และให้ซื้อหลักประกันสุขภาพในราคา 1,300 บาท ต่อปี กรณี เป็นเด็ก ขายราคา 365 บาทต่อปี ส่วนแรงงานที่เข้าประกันสังคม ระหว่างรอเกิดสิทธิ์ 3 เดือน ให้ซื้อเพียง 447 บาท และมีนโยบายให้ทุกจังหวัด สร้างอาสาสมัครสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานต่างด้าว 3 ชาติ คือพม่า ลาว และกัมพูชา เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพต่างด้าว ขยายโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพราะแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ขาดความรู้เรื่องสุขภาพ เป็นการลดช่องว่างในเรื่องภาษาการสื่อสาร ซึ่งขณะนี้จังหวัดสมุทรสาครดำเนินการประสบผลสำเร็จ ไม่พบโรคอุจจาระร่วงในพื้นที่อาศัยของแรงงานต่างด้าว เป็นที่สนใจศึกษา ดูงานของผู้รับรางวัลมูลนิธิเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2556 จำนวน 25 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สวีเดน และจอร์แดน เป็นต้น และจะให้ อสต. รณรงค์ขายบัตรหลักประกันสุขภาพด้วย มั่นใจว่าระบบดังกล่าว จะทำให้เราสามารถจัดการปัญหาโรคติดต่อ ที่อาจมาจากแรงงานต่างด้าวเมื่อไทย เข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ทางด้านนายแพทย์ชัยรัตน์ เวชพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินงานด้านสาธารณสุขในประชากรต่างด้าว โดยจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว หรือ อสต. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน มีอสต.ผ่านการอบรมแล้ว 4,600 คน ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ เฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ด้วยภาษาของตนเอง แต่ขณะนี้เหลือ อสต.อยู่ 1,560 คน จึงต้องเร่งฝึกอบรมเพิ่ม โดยเปิดโรงเรียนผลิตอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าวที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกำพร้า ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยอบรมความรู้ตามหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากนักวิชาการสาธารณสุข เช่น การประเมินสุขภาวะสุขภาพและการดูแลสุขภาพเบื้องต้น การป้องกันโรคติดต่อในชุมชน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การวางแผนครอบครัว หลักสูตรภาษาไทยเบื้องต้น หลักสูตรการคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค การเป็นพี่เลี้ยงดูแลผู้ป่วย และฝึกปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ทุกวันอาทิตย์ อบรมเป็นเวลา 5 วัน และอบรมเพิ่มเติม 3 ครั้ง ใน 1 ปี
ในปีนี้ ตั้งเป้าผลิต อสต. จำนวน 1,000 คน เพื่อดูแลในชุมชนและหมู่บ้านๆ ละ 2 คนหรือในสัดส่วนอสต. 1 คนต่อประชากร 100 คน ทำงานร่วมกับ อสม.ไทยในพื้นที่ และมีประจำสถานประกอบการซึ่งเป็นแหล่งรวมของแรงงานต่างด้าวถึงร้อยละ 80 แห่งละ 2 คน สัดส่วนอสต. 1 คน ต่อแรงงาน 50 คนด้วย โดยจะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครออกเป็นประกาศขอความร่วมมือให้เจ้าของสถานประกอบการ คัดเลือกแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง อยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 1 ปี สื่อภาษาได้อย่างดี มีภาวะเป็นผู้นำ เข้ารับการฝึกอบรม แห่งละ 2 คน เมื่อผ่านการอบรมแล้วอสต.เหล่านี้จะทำหน้าที่คล้ายเป็นนักขายความรู้สุขภาพโดยตรงหรือไดเร็คเซลถึงชุมชน โรงงาน จัดมุมสุขภาพในสถานประกอบการ ซึ่งในด้านของอสต.เอง ได้รับความศรัทธาเชื่อถือจากต่างด้าว และ ยกย่องว่า เป็นหมอที่พึ่งของต่างด้าว
************************************ 28 มีนาคม 2556