รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นพัฒนาสถานบริการในสังกัดกรมการแพทย์ ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อเป็นที่ปรึกษาโรงพยาบาลในภูมิภาค พร้อมพัฒนาความรู้ อสม. ทั่วประเทศ และสร้างพันธมิตรในพื้นที่ ช่วยดูแลประชาชนจากโรคที่เป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพ ด้านกรมการแพทย์นำร่องโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่/ทวารหนัก โดยการตรวจเลือด ก่อนดันเป็นนโยบายคัดกรองฟรีในผู้อายุ 50 ปีขึ้นไป
นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประชากรโลกกำลังถูกโรคที่เป็นภัยเงียบคุกคามสุขภาพ ที่สำคัญได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง โดยในรอบ 6 ปีมานี้ พบว่าคนไทยตายจากโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว สาเหตุร้อยละ 90 มาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เช่น กินอาหารที่เค็มจัด มีไขมันมาก มีความเครียดสะสมสูง ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งโรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วรักษาให้หายขาดยาก ส่วนใหญ่จะเรื้อรังต้องรักษาไปตลอดชีวิต
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า ในการเตรียมรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ เร่งพัฒนาสถานพยาบาลในสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันโรคทรวงอก สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันธัญญารักษ์ ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ สถาบันทันตกรรม สถาบันพยาธิวิทยา สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้าน เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในภูมิภาค รวมทั้งจัดระบบแพทย์พี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาแก่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังให้เสริมความรู้ทางวิชาการให้กับ อสม. ประมาณ 800,000 คนทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ให้คำแนะนำ ดูแลรักษาเบื้องต้น รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนในชุมชน โดยสร้างพันธมิตรเป็นเครือข่ายร่วมทำงานกับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ครบถ้วน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ
ด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การใช้ชีวิตและกินอาหารตามวัฒนธรรมตะวันตก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในปี 2549 มีคนไทยเสียชีวิตจาก 2 โรคนี้ถึง 4,715 ราย คาดว่าในปี 2550 จะเพิ่มถึง 6,000 ราย กรมการแพทย์ จึงได้ทำโครงการคัดกรองโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่/ทวารหนักเบื้องต้น โดยการตรวจเลือดแทนการตรวจอุจจาระหาปฏิกิริยาของเลือด มีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อรายประมาณ 30 บาท เริ่มเดือนมิถุนายนกันยายน 2550 จากนั้นจะสรุปผลเป็นข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อผลักดันเป็นนโยบายให้คนไทยทุกคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจคัดกรองโรคนี้ ฟรี เช่น เดียวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตได้ถึงร้อยละ 50
*************************** 23 พฤษภาคม 2550
View 11
23/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ