กระทรวงสาธารณสุข ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ลงพื้นที่ เร่งสืบหาแหล่งผลิตไส้กรอกอีสานที่พบลูกแมว เพื่อสร้างความปลอดภัยอาหารและความเชื่อมั่นไส้กรอกอีสาน ผลการตรวจไส้กรอกที่ยังเหลืออยู่ พบว่าเป็นคล้ายสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อน โดยผลการสืบสาวหาแหล่งผลิตต้นตอล่าสุด พบมาจากอ.ชุมพวง โคราช   

          จากกรณีที่มีข่าวประชาชนที่อ.สตึก จ.บุรีรัมย์คือนางกรด ยอดจงรักษ์ อายุ 52 ปี บ้านเลขที่ 112 หมู่ 1 บ้านกระสัง ต.กระสัง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ซื้อไส้กรอกอีสานไม่มียี่ห้อ จากแม่ค้าในตลาดเทศบาลตำบลสตึก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2556จำนวน 3 ชิ้น และพบชิ้นที่ 3 มีซากคล้ายลูกแมวยัดอยู่ในไส้กรอก และได้เก็บซากแมวไว้บูชานั้น

          ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้(18 มีนาคม 2556) นายแพทย์คำรณ  ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเครือข่ายบริการที่ 9 ที่ดูแลจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และชัยภูมิ กล่าวว่า  ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และสืบสาวให้ถึงแหล่งผลิตไส้กรอกดังกล่าวเพื่อปรับปรุงให้ได้มาตรฐานการผลิตอาหารและปลอดภัยตามโครงการอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน เนื่องจากไส้กรอกอีสานเป็นอาหารประจำถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การผลิตไส้กรอกจัดเป็นการแปรรูปอาหาร  มี 2 ระดับ  คือระดับอุตสาหกรรม เป็นบรรจุภัณฑ์  การผลิตจะต้องได้ตามมาตรฐานจีเอ็มพี และมีตราอย.  และการผลิตในระดับพื้นบ้าน ครัวเรือน เพื่อจำหน่ายเป็นคราวๆ ผลการเฝ้าระวัง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบสารอันตรายปนเปื้อนในไส้กรอกอีสาน

          ทางด้านนายแพทย์ สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์กล่าวว่า วันนี้ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสตึก สาธารณสุขอำเภอสตึกและเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เดินทางไปที่บ้านของนางกรด ยอดจงรักษ์ ที่ต.กระสัง อ.สตึก ที่ซื้อไส้กรอกดังกล่าวไปรับประทานที่บ้าน ผลการตรวจดูไส้กรอกที่ยังเหลืออยู่ พบว่าเป็นคล้ายสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนอยู่ในไส้กรอก  โดยประชาชนรายนี้แจ้งว่าซื้อไส้กรอกดังกล่าวมาจากร้านชำในหมู่บ้าน  เจ้าหน้าที่ได้ติดตามไปที่แม่ค้าที่จำหน่าย และได้แจ้งว่าซื้อมาจากเขียงหมูในตลาดเทศบาลอ.สตึก เจ้าหน้าที่ได้สืบสาวต่อ ได้รับแจ้งว่ารับมาจากอ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา จึงส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปยังแหล่งที่รับแจ้ง โดยได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาเพื่อดำเนินการแหล่งผลิตต้นตอร่วมกัน หากเป็นโรงงานผลิตเถื่อนก็จะดำเนินการตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร แต่หากเป็นการผลิตในระดับครัวเรือน จะเน้นให้ผลิตให้สะอาด ปลอดภัย เหมือนผลิตบริโภคเองในครัวเรือน และห้ามใช้สารปนเปื้อนอันตรายใดๆทั้งสิ้น   

          นายแพทย์สมพงษ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้มงวดในการตรวจสอบสถานผลิตในระดับโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานการผลิตที่ดีหรือจีเอ็มพี ในโครงการอาหารปลอดภัย และอบรมผู้ประกอบการทั้งร้านอาหาร แผงลอยต่างๆให้จำหน่ายอาหาร ยึดหลักร้านสะอาด รสชาติอร่อย ผ่านเกณฑ์ไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ในปีนี้ขยายการอบรมผู้ประกอบการแปรรูปอาหารรายย่อยๆ ระดับโอท็อป เช่น แจ่วบอง ปลาร้า    ให้ผลิตตามมาตรฐานจีเอ็มพีขั้นต้นหรือไพรมารี่ จีเอ็มพี คือความสะอาดสถานที่ มาตรฐานเครื่องมือ และความปลอดภัยวัตถุดิบ ห้ามใส่สารต้องห้าม เช่นสารกันรา สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกันบูด

                                         ********************************    18 มีนาคม 2556    



   
   


View 12    18/03/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ