วันนี้(28 กุมภาพันธ์ 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลัง นางคริสตี แอนน์ เคนนี่ (Ms. Kristie Anne Kenney ) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือเรื่องโครงการวัคซีนป้อกันโรคเอดส์ในประเทศไทย ว่า  การเข้าพบในครั้งนี้ทางเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ได้ปรึกษาหารือเรื่องการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคเอดส์  เนื่องจากขณะนี้ได้มีการทำมาแล้วตั้งแต่พ.ศ. 2546  เสร็จสิ้นโครงการพ.ศ. 2552 ผลการทดลองปรากฎว่าได้ผลค่อนข้างดี   โดยในปีที่ 2-3 ได้ผลร้อยละ 31 ขณะที่ปีแรกได้ผลร้อยละ 60 ซึ่งขั้นต่อไป ต้องมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อให้ได้ผลสูงขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนกระตุ้น แต่ปรากฏว่าจุดสนใจได้หันไปยังอัฟริกาด้วยความรุนแรงของการระบาด
       สำหรับทางประเทศไทย ทางสหรัฐอเมริกาได้เสนอมาว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าถ้าจะให้ทางอเมริกาลงทุนในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคเอดส์   โดยต้องการความเชื่อมั่นว่าถ้ามีการวิจัยจนเสร็จสิ้นแล้วและได้ผลดี  คนไทยจะได้ใช้วัคซีน โดยต้องการยืนยันจากประเทศไทย ว่าจะสนับสนุนให้มีการทดลองวัคซีนนี้ในระดับคลินิกในระยะสุดท้าย คือการทดลองในคน  และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว  จะมีการขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตวัคซีนนี้ต่อไป
       นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในหลักการประเทศไทยยินดีให้การสนับสนุนในเรื่องการทดลองวัคซีนเอดส์ อยู่แล้ว  แต่สิ่งที่ต้องการจากทางสหรัฐอเมริกาคือ จะต้องพิจารณาขั้นตอนเงื่อนไขใดบ้าง เนื่องจากการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี เป็นเรื่องคาบเกี่ยวกับจรรยาบรรณ จริยธรรมและอีกหลายเรื่อง  จึงต้องมีเรื่องของพันธะสัญญาที่ทางรัฐบาลไทยจะมีต่อไปในระยะประมาณ 3-5 ปีข้างหน้า  หากไม่มีปัญหาใดๆ  ทางไทยก็สนใจให้ความร่วมมืออยู่แล้ว   ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสหรัฐอเมริกา
            นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวอีกว่า โดยทางสหรัฐอเมริกาแจ้งว่าหากไทยสามารถแจ้งผลการพิจารณาได้ในระยะเวลา 1 เดือน ก็จะเดินหน้าโดยจัดการประชุมวิชาการพัฒนาวัคซีนนานาชาติ และติดต่อมูลนิธิต่างๆที่จะให้ทุนในการสนับสนุนการวิจัยนี้ เพราะมูลนิธิต่างๆเหล่านี้ โดยหลักการจะไม่ออกเงินสร้างโรงงานวัคซีนเอง  แต่จะกระตุ้นส่งเสริมให้มีการวิจัย และต่อยอดนำไปผลิตหลังการวิจัยแล้วเสร็จ  โดยไทยจะดำเนินการพิจารณาเงื่อนไขและขั้นตอนการทำงานให้ละเอียดก่อนหากมีประเด็นที่เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญอาจต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา
       ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโรคเอดด์ ที่ทดลองในประเทศไทย เป็นการดำเนินการทดลองระยะที่3  ในคนไทย  จำนวน 16402 คน ที่จังหวัดระยอง ชลบุรี จังหวัดละ 4 อำเภอ เริ่มดำเนินการ เมื่อพ.ศ. 2546  -2552  รวมเวลา 6 ปี  วัคซีนที่ใช้ในโครงการนี้ได้แก่ วัคซีนอัลแวค (ALVAC) ผลิตจากอะแวนตีส ปาสเตอร์ ประเทฝรั่งเศส และวัคซีนเอดส์แวค ( AIDSVAX) ผลิตโดยบริษัทแวคเจน ประเทศสหรัฐอเมริกา  นับเป็นโครงการทดลองที่ใหญ่ที่สุดในโลก  
********************* 28 กุมภาพันธ์ 2556


   
   


View 12    28/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ