กระทรวงสาธารณสุข ตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติ ระดับชาติและอาเซียน โดยมีกรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และพัฒนามาตรฐานห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลประชาชนที่ประสบภัยพิบัติทุกประเภท ในปี 2556 นี้ ตั้งเป้าพัฒนาทีมแพทย์ขนาดใหญ่ใน 24 จังหวัด และครบทุกจังหวัดในปี 2557 

                 วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญศ.นพ.เรย์มอนด์ สไวน์ตัน (Prof. Raymond Swienton) จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส และองค์กรเวชศาสตร์ภัยพิบัติแห่งชาติ (National Disaster Life Support Foundation : NDSL) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้านภัยพิบัติ และมีประสบการณ์ในการเผชิญเหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงที่ผ่านมาของสหรัฐอเมริกา เช่นการก่อวินาศภัยตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ พายุเฮอริเคน เป็นต้น มาบรรยายในหัวข้อ “การฝึกอบรมและการบริหารจัดการด้านการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติของอเมริกา” แก่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อนำประสบการณ์ของอเมริกามาปรับใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพงานเวชศาสตร์ภัยพิบัติของไทย สามารถดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างเป็นระบบทุกระดับความรุนแรงให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

               นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายพัฒนาหน่วยงานทุกระดับให้มีความรู้ด้านภัยพิบัติ เตรียมรับมือ และบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐบาล โดยมอบให้กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้นแบบมาตรฐานบริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับทั่วประเทศ โดยบุคลากรทางการแพทย์ประจำสถานพยาบาลจะมีความรู้ด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติ หากเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน ทีมบุคลากรมีองค์ความรู้ และสามารถเข้าไปบริหารจัดการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการอบรมระยะสั้น นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐและเอกชนให้จัดอบรมแพทย์และเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้ด้วย เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการดูแลด้านภัยพิบัติ ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และสามารถดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นทุกประเภทเป็นมาตรฐานเดียวกัน

                ด้านแพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์ฝึกอบรมด้านเวชศาสตร์ภัยพิบัติ  ที่รพ.ราชวิถี ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านภัยพิบัติส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์เป็นครู ก.  เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย  ทั้งนี้ กรมการแพทย์มีความพร้อมทั้งด้านสถานที่ หลักสูตร อุปกรณ์ในการฝึกอบรม แก่แพทย์ พยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่กู้ชีพต่างๆ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงระดับสูง ให้เข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน

                 ในปี 2556 นี้ ได้ฝึกอบรมทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับสูง หรือทีมเมิร์ท (MERT : Medical Emergency Response Team) เป็นทีมแพทย์ชุดใหญ่ระดับจังหวัด เพื่อดูแลช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติใหญ่ มีทีมสหวิชาชีพประมาณ 18 คน สามารถปฏิบัติงานในพื้นที่ภัยพิบัติได้ พร้อมดูแลรักษาขั้นต้นและส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาล ตั้งเป้าพัฒนาในปี 2556 นี้ 12 เครือข่ายบริการ รวม 24 จังหวัด และจะครบทุกจังหวัดในปี 2557 และพัฒนาหลักสูตรทีมฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วระดับอำเภอ เป็นชุดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะขยายการอบรมให้ครบทุกอำเภอต่อไป

********7กุมภาพันธ์ 2556

 



   
   


View 16    07/02/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ