องค์การอนามัยโลกชื่นชมไทย ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ประสานประโยชน์ให้ประเทศที่ส่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เพื่อการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ลงตัวอย่างดีเยี่ยม เป็นที่ยอมรับทุกประเทศ และไทยมีแผนวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แบบทูอินวัน ป้องกันได้ทั้งสายพันธุ์อินโดและสายพันธุ์ไทย หลังมีโรงงานผลิตในประเทศแล้ว
นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า จากการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ร่วมกับผู้บริหารประเทศ นักวิชาการต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญจาก 193 ประเทศทั่วโลก ประเด็นที่ถกกันมากในปีนี้ก็คือ การเตรียมตัวรับมือกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งแต่ละประเทศที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก จะต้องส่งเชื้อไวรัสที่เก็บได้จากผู้ป่วย ให้ศูนย์ความร่วมมือโรคไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อทำการศึกษาวิจัยและผลิตเชื้อไวรัสต้นแบบ ที่จะนำไปผลิตวัคซีนมาใช้ต่อไป จึงต้องมีการเจรจาผลประโยชน์ของประเทศที่ส่งตัวอย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดนก ซึ่งมักจะเกิดในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้มีสิทธิ์ใช้วัคซีนนี้ด้วยอย่างเท่าเทียมกัน โดยหลายประเทศได้มีการเสนอร่างมติมาที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกหลายชุด เพื่อให้เกิดข้อตกลงที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ร่วมกันอย่างทั่วถึง
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุม ประเทศไทยได้แสดงความเห็นใจและเข้าใจในการที่ประเทศอินโดนีเซียยุติการส่งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกให้แก่องค์การอนามัยโลก เพื่อเรียกร้องให้มีการพัฒนาระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ชัดเจนขึ้นมาใหม่ ซึ่งกำลังเป็นปัญหาขัดแย้งอย่างรุนแรงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และไทยได้เสนอจุดยืนความเป็นกลางในเรื่องนี้ โดยเน้น 2 หลักการคือ หลักการแบ่งปันเชื้อไวรัสและการเข้าถึงวัคซีน และเสนอที่ร่วมวางมาตรการความเท่าเทียมของผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างประเทศกำลังพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้ว และบริษัทวัคซีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมและขอบคุณประเทศไทย ที่ช่วยเป็นตัวกลางในการประสานความเข้าใจและผลประโยชน์ของทุกฝ่าย เพื่อรักษาระบบการแบ่งปันเชื้อไวรัสต่างๆ ที่มีมากว่า 50 ปี ให้คงอยู่ต่อไป โดยได้เสนอให้ไทยรับเป็นประธานในคณะกรรมการพิเศษ ที่จะพิจารณาร่างมติเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ให้ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกรับรองและถือปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ การที่ประเทศไทยได้แสดงเจตนาชัดเจนในการประสานประโยชน์ให้ทุกฝ่าย ในเรื่องวัคซีนไข้หวัดนกอย่างหนักแน่นตลอดมา ทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก ในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ขนาดกึ่งอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เราสามารถผลิตวัคซีนได้เองใน พ.ศ. 2552 ทำให้เกิดความมั่นคง เพราะหากเราไม่มีโรงงานผลิตวัคซีนเอง และมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เราจะไม่มีทางได้วัคซีนใช้แน่ๆ เนื่องจากทั่วโลกมีกำลังผลิตได้เพียงไม่เกิน 1,000 ล้านโดส ขณะที่มีประชากรมากถึง 6,500 ล้านคน เพราะฉะนั้น ความพยายามของประเทศไทย ในการแสดงบทบาทเป็นตัวกลางประสาน ซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย จึงมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จในการตั้งโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งจะมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับองค์การอนามัยโลก ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550
นายแพทย์มงคล กล่าวต่ออีกว่า โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ตั้งในไทยครั้งนี้ จะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ทุกตัว ทั้งชนิดที่ระบาดตามปกติ หรือเรียกว่า ซีซันนอลวัคซีน (Seasonal vaccine) หรือไข้หวัดใหญ่ที่มาจากโรคไข้หวัดนก ดังนั้นระหว่างที่ยังไม่มีการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เราก็ทำวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามปกติ สิ่งที่ประชาชนไทยจะได้จากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับองค์การอนามัยโลกครั้งนี้ มีอย่างน้อย 2 ประการ คือ การได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามระบบปกติมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุ เพราะราคาถูกลง ประการที่ 2 หากมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุใหม่ เราจะมีวัคซีนใช้ ไม่ต้องพึ่งประเทศอื่น เพราะโอกาสที่ไทยจะได้วัคซีนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากในภาวะวิกฤติเช่นนั้น ทุกประเทศที่มีโรงงานวัคซีนจะต้องสงวนไว้ให้คนของตนก่อน
นอกจากนี้ ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดนกในแต่ละพื้นที่นั้น ขณะนี้มีอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์ของอินโดนีเซีย และสายพันธุ์เวียดนาม ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันไทย จึงมีแนวคิดที่จะวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันได้ทั้ง 2 สายพันธุ์ เพราะวัคซีนที่มีอยู่จะป้องกันได้เพียง 1 สายพันธุ์เท่านั้น ในการจะพัฒนาวัคซีนตัวนี้ได้ เราจำเป็นต้องมีโรงงานผลิตวัคซีนเป็นของตัวเองก่อน มิฉะนั้นจะทำวิจัยไม่ได้ ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการผ่านคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้รับการอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะพิจารณาในครม. ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ต่อไป โครงการนี้ใช้งบประมาณสร้างประมาณ 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ปี ปีละประมาณเกือบ 500 ล้านบาท ผลิตวัคซีนได้ปีละ 2 ล้านโดส และสามารถขยายกำลังการผลิตในอนาคตได้ถึง 10 ล้านโดส รวมทั้งสามารถเพิ่มการผลิตได้อย่างเพียงพอหากมีการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้น
*** 16 พฤษภาคม 2550
View 15
16/05/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ