รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงความเข้าใจและเห็นใจ ต่อความพยายามในการจัดการให้มีการเข้าถึงยาที่จำเป็นของผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย แต่แนะให้ไทยเพิ่มความพยายามในการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยาให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังขอไห้ไทยแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แก่องค์การอนามัยโลก โดยไม่มีเงื่อนไข โดยไทยแสดงจุดยืนพร้อมแบ่งปันแก่ประเทศอื่น แต่จะต้องมีความเท่าเทียมในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่แบ่งปันไปด้วย วันนี้ (15 พฤษภาคม 2550) ที่อาคารประชุมสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ 60 นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย และคณะ ประกอบด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้หารือร่วมกับ ฯพณฯ ไมเคิล โอ. ลีวิท (Mr.Micheal O.Leavitt) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐและคณะ โดยมีประเด็นสำคัญคือ เรื่องการทำซีแอลของไทยและการแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดนก นายแพทย์มงคล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า บรรยากาศการหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยดี อย่างฉันท์มิตร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกามีความเป็นห่วงใน 2 เรื่อง เรื่องแรกได้แก่ ความโปร่งใสในการบังคับใช้สิทธิ์ของประเทศไทย รวมทั้งได้สอบถามต่อว่าไทยจะทำซีแอลเพิ่มอีกหรือไม่ โดยไทยได้อธิบายขั้นตอนการทำซีแอลว่า ทุกอย่างดำเนินการอย่างโปร่งใสที่สุด ได้มีการเจรจาต่อรองกับบริษัทยาทั้งก่อนและหลังประกาศหลายครั้ง โดยยาที่ประกาศซีแอลแล้ว 3 ตัว ขณะนี้ได้ดำเนินการบังคับใช้สิทธิ์ไปเพียง 1 ตัว อีกสองตัวกำลังเจรจาต่อรอง หากสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องทำการบังคับใช้สิทธิ์ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับ และเข้าใจขั้นตอนของไทยว่าดำเนินการด้วยความโปร่งใส แต่แนะนำให้ประเทศไทยเพิ่มการเจรจาต่อรองราคากับบริษัทยาให้มากขึ้น “ทางเราได้ชี้แจงว่าการทำซีแอล ไม่ได้ทำง่ายๆ มีขั้นตอนมากมาย และพิจารณาความจำเป็นเป็นกรณีๆ ไป โดยสาเหตุการตายหลักของคนไทยขณะนี้มาจาก 5 โรค ได้แก่ โรคเอดส์ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคชรา โดยเป็นหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ที่จะต้องจัดหายาจำเป็นต่อโรคดังกล่าวให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ การบังคับใช้สิทธิ์ มุ่งเน้นการเข้าถึงยาในหมู่ผู้มีรายได้ต่ำ ซึ่งจะไม่กระทบทำให้ตลาดยาที่มีสิทธิบัตรเสียหาย คนที่มีฐานะดีรวมทั้งข้าราชการที่มีสิทธิเบิกค่ารักษาได้ ก็ยังใช้ยาที่มีสิทธิบัตรอยู่ จึงขอให้ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเข้าใจถึงความจำเป็นของไทย และให้โอกาสประเทศไทยได้ช่วยเหลือคนยากจนเหล่านี้ ซึ่งทางสหรัฐได้แสดงความเข้าใจและเห็นใจในความจำเป็นของไทยอย่างมาก แต่อยากให้หาวิธีการที่จะทำให้คนจนผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงยาได้ ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยปกป้องสิทธิบัตรของบริษัทยาไปพร้อมๆ กัน” นายแพทย์มงคลกล่าว สำหรับประเด็นที่ 2 ที่หยิบยกขึ้นมาหารือในวันนี้ก็คือ การแบ่งปันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกในไม่ช้านี้ สิ่งที่สหรัฐอเมริกาเป็นห่วงคือจุดยืนของประเทศไทย ว่าจะมีนโยบายในการแบ่งปันอย่างไร มีเงื่อนไขในการต้องเข้าถึงวัคซีนแบบเดียวกับอินโดนีเซียหรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีสาธารณสุขไทยได้ยืนยันจุดยืนในเรื่องนี้ชัดเจนว่า เราเห็นด้วยที่จะแบ่งปันไวรัสให้แก่ทุกประเทศ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันในเรื่องของผลประโยชน์ที่ตามมา โดยเฉพาะเรื่องสิทธิบัตร โดยสิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดคือศักยภาพในการผลิตวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังจัดตั้งโรงงานวัคซีน โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศจีน ทั้งนี้เรามองว่าการแบ่งปันเชื้อไวรัสและการแบ่งปันประโยชน์ที่ได้นั้น เป็นคนละส่วนกันแต่ก็มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งทางสหรัฐก็พอใจในท่าทีของประเทศไทย โดยเห็นว่าไทยน่าจะเป็นตัวกลางสำหรับทุกฝ่ายได้ อนึ่ง ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งนี้ มีร่างข้อเสนอมติเกี่ยวกับการแบ่งปันเชื้อไวรัสและการแบ่งปันวัคซีนหลายร่าง ประเทศไทยได้เสนอให้ยึดร่างมติที่มาจากกรรมการบริหารองค์การอนามัยโลก และร่างมติที่มาจากการประชุมที่จากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไทยเป็นประธานการประชุม โดยมีข้อตกลงไว้ 3 หลักการใหญ่ๆ ได้แก่ 1.หลักการแบ่งปันไวรัส 2.การพัฒนาศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนา และ 3.การเข้าถึงวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีน และการสำรองวัคซีนเมื่อมีการระบาดขึ้น โดยไทยได้เสนอให้ที่ประชุมตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาร่างมติใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของที่ประชุมครั้งนี้ ซึ่งมีหลายประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของไทย เช่น สหรัฐเมริกา ออสเตรเลีย เคนยา มัลดีฟและอินโดนีเซีย และยังได้เสนอให้ประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการพิเศษด้วย นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปอีกว่า ทางสหรัฐอเมริกาได้แนะนำว่า จะต้องใช้มาตรการอื่นๆ ในการรับมือกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ด้วย ไม่หวังพึ่งยาและวัคซีนอย่างเดียว ซึ่งไทยได้ยืนยันว่ามีทั้งแผนและกำลังคน โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีทั่วประเทศกว่า 8 แสนคน เดินเคาะถึงทุกประตูบ้าน เพื่อป้องกันและควบคุมโรค เช่น โรคไข้หวัดนก ซึ่งได้ผลดีมาก ไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ************************** 15 พฤษภาคม 2550


   
   


View 18    15/05/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ