สาธารณสุขจับมือเกษตร ขับเคลื่อนความปลอดภัยอาหาร ตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ผู้ผลิตถึงผู้บริโภค คุมเข้มการใช้สารเคมีอันตรายในขบวนการผลิต หากมีอันตรายต่อสุขภาพจะห้ามใช้และห้ามนำเข้าประเทศ พร้อมกำหนดมาตรฐานอาหารทั้งในประเทศและส่งออก  ขั้นต่ำสุดคือความปลอดภัย  สูงสุดคือความสวยงาม

        นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารืออุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหารือแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งในประเทศและการส่งออก รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

        นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า ที่ประชุมมีการตกลงชัดเจนในเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค โดยแบ่งมาตรการทำงานออกเป็น 2 อย่าง คือ 1.มาตรการต้นน้ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดูแล จะปรับปรุงระบบควบคุม การขึ้นทะเบียนสารเคมีที่ใช้ในภาคเกษตร หากตัวใดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะห้ามนำเข้าและห้ามใช้  รวมทั้งจะเข้าไปดูเรื่องการใช้ที่ไม่เหมาะสม ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะดูในสารบางอย่าง ถ้ามีการลักลอบนำสารบางอย่างมาใช้จะออกมาตรการควบคุม เช่น สารเร่งเนื้อแดงหรือซาลบูทามอล ซึ่งเป็นยารักษาอาการหอบหืด และจะหามาตรการทางกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำยาตัวนี้มาใช้ง่ายๆ 2.มาตรการปลายน้ำ จะออกมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข  โดยจะออกตรวจมาตรฐานอาหารบริโภคต่างๆ  เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค  ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับผู้ผลิต   ในส่วนตรงกลางคือตลาด ซึ่งเป็นจุดรวมและกระจายสินค้า  จะทำงานร่วมกันโดยกระทรวงเกษตรฯจะดูอาหารที่ออกมาจำหน่าย ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดูมาตรฐานสำหรับผู้บริโภคและจะตรวจทั้งสองทางร่วมกัน

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารจะดำเนินการ 3 ระดับ โดยใช้มาตรการไต่ระดับขึ้นมา เริ่มต้นคือความปลอดภัย  สูงสุดคือมาตรฐานความสวยงาม การใช้มาตรการแต่ละระดับ จะสะท้อนถึงต้นทุนของผู้ผลิตที่สูงขึ้น หากเพิ่มมาตรฐานชั้นสูงสุดที่เรียกว่าลักเชอรี่ (Luxury) ผู้ผลิตในประเทศอาจจะตามไม่ทัน  จะต้องมีเวลาปรับตัวในเรื่องของต้นทุน การทำให้อาหารมีความปลอดภัย จะช่วยผลักดันเรื่องภาพลักษณ์มาตรฐานอาหารส่งออกของไทย และช่วยในเรื่องของการส่งออก  ซึ่งหากมีมาตรฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างจริงจัง  เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ และกระทรวงพาณิชย์สามารถนำไปต่อรองเรื่องการส่งออกได้

             ทางด้านนายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในเรื่องการส่งออกสินค้า  จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อช่วยในเรื่องการค้าส่งออก โดยมีกระทรวงพาณิชย์  เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งสินค้าส่งออก จะเป็นมาตรฐานระดับสูงสุด  โดยกระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการในมาตรการต้นน้ำ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการมาตรการปลายน้ำ ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริโภคทั้งในประเทศและส่งออก เป็นการทำงานแบบบูรณาการ โดยจะประชุมร่วมกันอย่างใกล้ชิดเป็นระยะ  ผลการสุ่มตรวจอาหารจากแหล่งจำหน่ายทั่วประเทศ ตั้งแต่พ.ศ.2553-2555 จำนวน 204,224 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ยาฆ่าแมลง 198,733 ตัวอย่าง พบว่าตกเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 5 พบมากสุดในใบบัวบก ดอกหอม กะหล่ำปลี กุยช่าย  ส่วนสารเร่งเนื้อแดงตรวจ  5,491 ตัวอย่าง พบตกเกณฑ์ร้อยละ 1 ในเนื้อหมู เนื้อวัวและหมูบด          

****************************** 14 มกราคม 2556




   
   


View 18    14/01/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ