ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วลงสอบสวนสาเหตุเด็กนักเรียนที่เข้าค่ายลูกเสือที่จังหวัดสระบุรีเกิดอาหารเป็นพิษกว่า 400 ราย เก็บตัวอย่างอาหารน้ำดื่ม อาเจียน ส่งตรวจหาเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  จะทราบผลในอีก 2-3  วัน สันนิษฐานเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดมาจากสิ่งปนเปื้อนในน้ำดื่มน้ำแข็งและอาหาร แนะผู้ประกอบการแยกน้ำแข็งบริโภค กับน้ำแข็งแช่อาหาร และให้กินร้อนช้อนกลางล้างมือ  ล่าสุดนี้นักเรียนทั้งหมดอาการปลอดภัย ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 39 ราย

             จากกรณีที่มีเด็กนักเรียนมัยมศึกษาจากจังหวัดสุพรรณบุรีและกทม.ประมาณ 7 – 8 แห่ง เกิดอาการป่วย คลื่นไส้อาเจียนหลายร้อยรายระหว่างเข้าค่ายกิจกรรมลูกเสือที่จังหวัดสระบุรี และนำส่งโรงพยาบาล 4 แห่งคือที่โรงพยาบาลมวกเหล็ก โรงพยาบาลปากช่องนานา โรงพยาบาลแก่งคอย และโรงพยาบาลสระบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมา นั้น ความคืบหน้าในวันนี้ (14 ธันวาคม 2555) นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทยเคลื่อนที่เร็วไปที่ค่ายฝึกกิจกรรมนักเรียนดังกล่าว ชึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 3,000 คน เพื่อทำการสอบสวนหาสาเหตุและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคทันที ผลการตรวจสอบทั้งน้ำอาหารสถานที่สิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในค่าย ในเบื้องต้นคาดว่าสาเหตุการเกิดอาหารเป็นพิษครั้งนี้ น่าจะมาจากการปนเปื้อนในน้ำแข็ง น้ำดื่ม และอาหาร อย่างไรก็ดีทีมสอบสวนโรคได้เก็บตัวอย่างอาเจียน อาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่เด็กรับประทาน ส่งตรวจพิสูจน์เชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และที่โรงพยาบาลสระบุรี   คาดว่าจะทราบผลตรวจในอีก 2-3 วัน

              ทั้งนี้ สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดได้ทั้งจากการปนเปื้อนในอาหาร จากตัวผู้ปรุงเช่นกรณีที่มีบาดแผลและจากสถานที่  โดยอาหารต่างๆ ก่อนบริโภคต้องปรุงให้สุกก่อน โดยเฉพาะผู้ปรุงอาหารต้องคำนึงถึงสุขภาพความสะอาดและคุณภาพอาหาร รวมทั้งสถานที่ประกอบอาหาร เนื่องจากเป็นค่ายที่อาจจะไม่ได้มีการใช้งานทุกวัน อาจจะไม่สะอาดพอ จึงต้องระมัดระวัง ส่วนผู้บริโภคให้ยึดหลักความปลอดภัย คือ กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร 

             สำหรับนักเรียนที่เกิดอาหารเป็นพิษครั้งนี้ ยอดสรุปเมื่อเวลา 9.00 น. มีทั้งหมด 447 ราย ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนปวดท้อง แพทย์ได้นำส่งโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดสระบุรี และที่จังหวัดนครราชสีมา ทั้งหมดได้รับการดูแลเบื้องต้นโดยการให้ยารักษาตามอาการ ให้น้ำเกลือ ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ยาปฏิชีวนะ  โดยมีเด็กที่ต้องให้น้ำเกลือทั้งหมด 39 ราย เนื่องจากเสียน้ำไปมาก อยู่ที่โรงพยาบาลมวกเหล็ก 30 ราย โรงพยาบาลแก่งคอย 15 ราย และโรงพยาบาลสระบุรี 4 ราย ทุกรายปลอดภัยและอาการดีขึ้นเรื่อยๆ  นายแพทย์ณรงค์กล่าว

 ***********************************  14 ธันวาคม 2555



   
   


View 17    14/12/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ