รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงพยาบาลเกาะคาและรพ.สต.นาแสง อ.เกาะคา จ.ลำปาง โดยมีแผนยกระดับโรงพยาบาลเกาะคา เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก 200 เตียง บริการดูแลผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชน 9 แห่ง และให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รพ.สต.ใกล้บ้าน ป้องกันโรคแทรกซ้อนจากปัญหาขาดยา ขาดนัดแพทย์

                   วันนี้ ( 17 พฤศจิกายน 2555 ) ที่จังหวัดลำปาง นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานของโรงพยาบาล(รพ.) เกาะคาและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ว่า จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดที่ไม่มีโรงพยาบาลทั่วไป โดยจะมีเพียงโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียงเท่านั้น และโรงพยาบาลศูนย์ลำปางที่เป็นศูนย์เฉพาะทาง โดยต้องแบกรับภาระการให้บริการทั้งผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยเฉพาะทาง จึงทำให้มีภาระงานมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแผนพัฒนาให้โรงพยาบาลเกาะคา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง มีแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทาง 5 สาขาหลัก ได้แก่ 1.สูติ-นรีเวชกรรม 2.ศัลยกรรมทั่วไป 3.อายุรกรรม 4.กุมารเวชกรรม 5.ศัลยกรรมกระดูกและออร์โธปิดิคส์ รวม 15 คน ให้มีศักยภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กขนาด 200 เตียงภายในปี 2559 เพื่อลดความแออัดจำนวนผู้ป่วยของโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน และรองรับผู้ป่วยส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนใกล้เคียง 9 อำเภอ ได้แก่ สบปราบ ห้างฉัตร แม่ทะ แม่เมาะ เสริมงาม วังเหนือ แจ้ห่ม เมืองปาน และงาว ด้วย

                 นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า สถานการณ์โรคที่เป็นปัญหาของประเทศขณะนี้และที่จังหวัดลำปางด้วย ได้แก่โรคเรื้อรัง อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้เจ้าหน้าที่รณรงค์ปลูกฝังนิสัยให้ประชาชนรู้จักการป้องกันไม่ให้ป่วยเช่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดบริโภคอาหารรสหวานหรืออาหารที่มีไขมันมาก อาหารรสเค็มจัด โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือ รพ.สต. ซึ่งมี 9,750 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ให้เป็นสถานพยาบาลใกล้บ้าน ใกล้ใจ ประชาชนเข้าถึงและพึ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ให้การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่องด้วย

                  ทั้งนี้ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใหญ่พบว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทำให้เกิดความแออัด ต้องใช้เวลารอพบแพทย์นาน แพทย์มีเวลาตรวจรักษาน้อยลง จึงได้กระจายบริการผู้ป่วยกลุ่มนี้ลงไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมทั้งกำลังคน เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีที่จำเป็น ตั้งเป้าให้ได้ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งหมด จะทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้าน สะดวกขึ้น และได้กินยาตัวเดียวกันกับที่เคยได้รับจากโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการขาดนัด ขาดยา ได้ด้วย

                 นายแพทย์ชลน่านกล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อในประเทศไทย ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2553 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรังปีละกว่า 1 แสนคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุ โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 40 มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประมาณปีละ 300,000 ล้านบาท หากปล่อยสถานการณ์เช่นนี้ต่อไป โดยไม่เร่งแก้ไข คาดว่าประชาชนไทยจะมีอายุสั้นลงไปเรื่อยๆ มีผลกระทบต่อประเทศไทยหลายด้าน จึงต้องเผยแพร่สถานการณ์ความรุนแรงปัญหา ให้ประชาชนประชาชนเกิดความตระหนักและหันมาใส่ใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อไม่ให้ป่วย                        

                                                              ***************** 17 พฤศจิกายน 2555



   
   


View 17    17/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ