กระทรวงสาธารณสุข หนุนบทบาทหมออนามัยเกือบ 30,000 คน เป็นนักสาธารณสุขชุมชน รณรงค์สร้างสุขภาวะในหมู่บ้านตำบลทั่วไทยใช้พลังชุมชนเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายจาก 5 ปัญหาใหญ่ได้แก่เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อุบัติเหตุ และการพนัน ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบนักสูบบุหรี่ 18 ใน 21 คน เป็นผู้ติดบุหรี่ สูบเฉลี่ยเดือนละ 300 มวน ส่วนวัยรุ่นพบว่าดื่มสุราเพิ่มขึ้น

        วันนี้ (9 พฤศจิกายน 2555) โรงแรมทีเค พาเลซ เขตหลักสี่ กทม. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ คณะกรรมการสมาคมหมออนามัย ผู้แทนเครือข่ายหมออนามัยระดับจังหวัด และผู้แทนจากชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ 300 คน ในโครงการพัฒนาประชาคมลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ ได้แก่เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อุบัติเหตุ และการพนัน ในปี 2555-2556 ซึ่งในวันนี้มีการลงนามความร่วมมือของ 5 องค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยสู่นักรณรงค์และนักพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข สมาคมหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
         นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งลดปัจจัยเสี่ยงอันตรายที่ทำลายสุขภาพคนไทย โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้ เหล้า บุหรี่ เป็น 1 ใน 4 ตัวการหลักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ ติดยาเสพติด รวมถึงการติดการพนันที่เป็นอบายมุข อันจะก่อปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาสังคมต่างๆตามมา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยในชุมชนต่างๆ อย่างรุนแรง จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่าในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ทุกจำนวน 21คน มีถึง 18คน ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ใน 1วันสูบบุหรี่มากถึง 11มวน หรือเฉลี่ยใน 1เดือนจะสูบบุหรี่รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 300มวนหรือ 15ซอง และยังพบวัยรุ่นดื่มสุราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.5ในปี 2547เป็นร้อยละ 23.7ในปี 2554และมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชน/หมู่บ้านร้อยละ 40ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552ที่มีการระบาดร้อยละ 32
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาและลดปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว จะต้องใช้มาตรการทางสังคม ชุมชน โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับอำเภอ ตำบล ถึงหมู่บ้าน ซึ่งในปี 2555-2556 นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้หมออนามัย ซึ่งเป็นบุคลากรกำลังหลักของระบบสุขภาพที่อยู่ในพื้นที่และปฏิบัติงานในทุกตำบลทั่วประเทศ รวม 28,449 คน ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,810 แห่ง ให้เป็นนักรณณรงค์สร้างสุขภาวะในชุมชน เป็นแกนประสานงานระหว่างชาวบ้านกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมในระดับพื้นที่ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือ อสม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออปท. และผู้นำชุมชน เพื่อสร้างมาตรการทางสังคมหรือชุมชนในการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
           ด้านนายสาคร นาต๊ะ นายกสมาคมหมออนามัย กล่าวว่า ผลจากการประชุมในครั้งนี้ จะมีการจัดทำแผนการดำเนินงานชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงในระดับพื้นที่ ทุกจังหวัด นำไปปฏิบัติให้บรรลุผล โดยจะมีการประกาศนโยบายสาธารณะระดับอำเภอลด 5 ปัญหาที่กล่าวมา จังหวัดละ 1 อำเภอ รวม 870 อำเภอ มีตำบลต้นแบบจัดการปัญหา โดยการประกาศเป็นนโยบายท้องถิ่นเขตตรวจราชการละ 1 ตำบล รวม 18 ตำบลและมีนวัตกรรมชุมชนลดเสี่ยงโดยใช้มาตรการของชุมชนเอง เขตละ 1 หมู่บ้าน รวม 18 หมู่บ้าน 18 นวัตกรรม
 


   
   


View 9    09/11/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ