“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 448 View
- อ่านต่อ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ แก้ไขปัญหาเด็กคลอดก่อนกำหนดที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพบมีอัตราสูงและมีอาการอยู่ในขั้นวิกฤติมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศ ผลดำเนินการ 1 ปี พบว่าประสบผลสำเร็จ แนวโน้มอัตราคลอดก่อนกำหนดลดลงจากร้อยละ 11 ในปี 2553 เหลือร้อยละ 7.99 ในปี 2555 เด็กมีอัตรารอดชีวิตสูงขึ้น เตรียมขยายผลที่จังหวัดยะลาและปัตตานีในปี 2557
วันนี้ (30 ตุลาคม 2555) เวลา 11.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ฯ และทรงเปิดหออภิบาลทารกแรกเกิดวิกฤติ ขนาด 12 เตียง ณ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมถวายการต้อนรับ
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า การคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ทารกแรกเกิดของไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 หรือมีพัฒนาการล่าช้า และอาจเกิดปัญหาเชาว์ปัญญาต่ำ จากสถิติไทยมีหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดก่อนกำหนด คือเมื่ออายุครรภ์ได้ 28-37 สัปดาห์ปีละ 64,000-80,000 คน ในจำนวนนี้ มีเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีอาการอยู่ในภาวะวิกฤติต้องอยู่ในไอซียู ปีละกว่า 11,000 ราย เนื่องจากอวัยวะภายในโดยเฉพาะปอด ตับ ยังทำงานไม่สมบูรณ์ ระบบภูมิต้านทานโรคต่ำ ทำให้ติดเชื้อง่าย การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ดีพอ และยังมีปัญหาเรื่องการดูดนม ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ และใช้เครื่องมือแพทย์ราคาแพง ใช้เวลานอนอยู่ในโรงพยาบาลเฉลี่ยรายละ 2-3 เดือน ใช้งบประมาณดูแลปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
ในการแก้ไขปัญหาการคลอดก่อนกำหนด พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระทัยและประทานโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารก เพื่อครอบครัวและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ฯ เริ่มตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา โดยที่จังหวัดนราธิวาสซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ มีอัตราคลอดปีละ 14,000 ราย ในปี 2553 มีอัตราการคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 11 โดยมีเด็กคลอดก่อนกำหนดมีอาการอยู่ในภาวะวิกฤติมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ในปี 2554 จำนวน 1,051 ราย สาเหตุคลอดก่อนกำหนดอันดับ 1 ไม่ทราบสาเหตุ รองลงมาเกิดจากครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ครรภ์แฝด ได้เข้าร่วมโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯเมื่อเดือนเมษายน 2554 เพื่อแก้ไขปัญหาและลดภาวะคลอดก่อนกำหนด และทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น โดยเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว พัฒนาระบบเครือข่ายบริการหญิงตั้งครรภ์ครอบคลุมทั้งจังหวัด ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ ถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่อยู่ในหมู่บ้านรวมทั้งหมด 124 แห่ง มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และแม่อาสา ช่วยดูแลแม่และเด็กในชุมชนจนถึงอายุ 5 ปี
ยุทธศาสตร์การดำเนินงานป้องกันการคลอดก่อนกำหนดที่สำคัญ จะเน้นการฝากครรภ์ยุคใหม่ เริ่มตั้งแต่ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มีการตรวจคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 17 ปี หรือมากกว่า 35 ปี มีการอักเสบในช่องปาก หญิงที่มีประวัติดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ ตั้งครรภ์แฝด รวมทั้งเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ และส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ให้ความรู้ความเข้าใจหญิงตั้งครรภ์ และสามี ให้สามารถปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ ให้ถูกต้อง ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการดูแลโภชนาการ สุขภาพช่องปาก การดูแลขณะคลอด จนถึงการวางระบบการติดตามการตั้งครรภ์ และการวางแผนครอบครัว
ผลการดำเนินงาน 1 ปีพบว่าบรรลุตามเป้าหมาย หญิงตั้งครรภ์ได้รับความรู้ในการปฏิบัติตัวร้อยละ 81 ใช้บริการรถฉุกเฉินกรณีเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 71 ได้รับการดูแลสุขภาพในช่องปากครบ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถยับยั้งการคลอดก่อนกำหนดได้สำเร็จมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 75 โดยโรงพยาบาลต่างๆ ได้พัฒนานวตกรรมป้องกันภาวะอุณหภูมิร่างกายของเด็กทารกคลอดก่อนกำหนดต่ำแทนการใช้ตู้อบ เช่นที่รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ใช้วิธีการห่อตัวทารกด้วยถุง 2 ชั้น ให้ความอบอุ่นด้วยกระเป๋าน้ำอุ่นไฟฟ้า และการใช้เครื่องอบอุ่นเคลื่อนที่ โรงพยาบาลสุไหงปาดีจัดทำผ้าอุ่นกายใจรัก ห่มผ้ารอบตัวแม่และลูกหลังคลอด โรงพยาบาลรือเสาะพัฒนาผ้าอุ่นไอรัก มีผ้าห่อตัวลูก พบว่าได้ผลดี อัตราการเกิดอุณหภูมิต่ำในทารกแรกเกิดมีเพียงร้อยละ 14 อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 50 ภาพรวมทั้งจังหวัด พบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 11 ในปี 2553 เหลือร้อยละ 7.99 ในปี 2555 อัตราการรอดชีวิตของเด็กคลอดก่อนกำหนดสูงขึ้น โดยในปี 2555 มีหญิงเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ได้รับการส่งทางระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 10 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีแผนขยายยุทธศาสตร์โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกฯ ไปยังจังหวัดยะลา และปัตตานี ในปี 2557 และในปี 2558 จะพัฒนาให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการดูแลภาวะคลอดก่อนกำหนด และทารกคลอดก่อนกำหนด มีแพทย์เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์ปริกำเนิด สาขากุมารแพทย์ทารกแรกเกิด สาขากุมารแพทย์โรคหัวใจ และสาขากุมารแพทย์ศัลยศาสตร์ สามารถดูแลเด็กในพื้นที่ได้อย่างครบวงจร
*************************** 30 ตุลาคม 2555