รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขานรับนโยบายรัฐบาล กระตุ้นราคายางดิบในประเทศ ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ผู้ผลิตถุงมือตรวจโรคจากน้ำยางพาราให้รวดเร็วขึ้น สามารถดำเนินการผลิตได้ทันทีเมื่อได้รับใบจดทะเบียนสถานประกอบการ ไม่ต้องยื่นขออนุญาตซ้ำอีก เพื่อสนับสนุนธุรกิจการส่งออกถุงมือที่ใช้ในการแพทย์ แข่งขันกับต่างประเทศได้ ยืนยันคุณภาพยังคงมาตรฐานระดับสากล เร่งออกประกาศกระทรวงฯให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้

                  นายวิทยา บุรณศริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาล โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายส่งเสริมการนำน้ำยางพาราดิบที่ผลิตในประเทศมาแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางดิบให้มากขึ้น ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการประชุมผู้ประกอบการถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือตรวจโรคซึ่งเป็นถุงมือที่มีคุณภาพสูง มีความเหนียว ใช้ป้องกันการติดเชื้อได้ เพื่อให้หันมาใช้น้ำยางพาราดิบเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยจะปรับลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้เร็วขึ้น เน้นแนวทางการควบคุมเป็นไปตามหลักสากลสอดคล้องกับอาเซียน ที่มีการควบคุมเฉพาะคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ซึ่งขณะนี้ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

                 นายวิทยากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้อย.เพิ่มบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมกำกับผู้ประกอบการให้มากขึ้นและเป็นไปตามลำดับขั้นตอน กรณีพบผู้กระทำผิดผลิตหรือนำเข้าถุงมือทางการแพทย์ที่คุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐานที่กำหนด เช่นพิจารณาบทลงโทษตามเจตนา ความรุนแรงของผลกระทบ หรือเป็นการกระทำผิดซ้ำซาก และให้อย.ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ถุงมือทางการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน เลือกซื้อและใช้ถุงมือทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เช่นไม่ควรนำถุงมือชนิดใช้งานทั่วไปมาใช้แทนถุงมือการตรวจโรค และยังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจรับรองระบบคุณภาพของโรงพยาบาล (Hospital accreditation) รับทราบปัญหาการใช้ถุงมือผิดประเภท เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

                  ทั้งนี้ การปรับแนวทางการควบคุมดังกล่าว จะไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของมาตรฐานของถุงมือสำหรับการตรวจโรคแต่อย่างใด เพราะภาครัฐยังคงควบคุมคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่จะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือสำหรับการตรวจโรคของไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่มีมูลค่าการส่งออกประมาณปีละ 20,000 ล้านบาท ซึ่งการลดขั้นตอนการทำงานของรัฐให้รวดเร็ว เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนครั้งนี้ จะทำภาคธุรกิจไทยทันต่อการแข่งขันด้านการส่งออกในตลาดโลก รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตและใช้ถุงมือสำหรับการตรวจโรคที่ทำจากน้ำยางพาราดิบให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้และราคาน้ำยางดิบในประเทศเพิ่มขึ้น

                 ด้านนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันถุงมือสำหรับการตรวจโรคจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับใบอนุญาตผลิตหรือนำเข้าเครื่องมือแพทย์ โดยผู้ผลิตหรือนำเข้าต้องยื่นคำขอจดทะเบียนสถานประกอบการเมื่อประสงค์จะผลิตหรือนำเข้าเพื่อจำหน่าย และจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตของถุงมือสำหรับการตรวจโรคด้วย ในขณะที่สากลจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้น การปรับแนวทางการควบคุมถุงมือตรวจโรคให้สอดคล้องดังกล่าว จะตัดขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่ต้องใช้เวลาการพิจารณาประมาณ 30 วันออกไป โดยยังคงมีการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวดเช่นเดิม ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถผลิตจำหน่ายและส่งออกได้รวดเร็วขึ้น ทันต่อความต้องการของลูกค้าและตลาดโลก

                                                                                                         *************** 21 ต.ค. 2555



   
   


View 11    22/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ