วันนี้ (19 ตุลาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหาร เปิดป้ายอาคารผ่าตัด อาคารกายภาพบำบัด และศูนย์สลายนิ่วของโรงพยาบาลยโสธร และมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข จังหวัดยโสธร

              นายวิทยาให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2556 นี้ รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี  มอบให้กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มคุณภาพบริการสถานพยาบาลสาธารณสุขในสังกัดทุกแห่ง ให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ครอบคลุมทุกโรค โดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง และไตวาย โดยเร่งพัฒนาความรู้และความสามารถอสม. ให้เป็น “นักจัดการสุขภาพชุมชน” สามารถประเมินปัญหาสุขภาพในชุมชน วางแผนและหาวิธีจัดการปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นที่จังหวัดยโสธร ที่สำรวจพบผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะสูงถึงร้อยละ 3 ของประชากร แต่ละปีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลยโสธรกว่า 5,000 ราย ร้อยละ 60 ต้องรับการผ่าตัด ซึ่งโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาสุขภาพในพื้นที่ที่ อสม.ต้องเข้ามามีบทบาทในการค้นหาผู้ป่วย เข้าสู่ระบบการรักษา และที่สำคัญคือการให้ความรู้ในการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

                 ข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2553 พบผู้ป่วยโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะเข้ารักษาในโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ  78,011 ราย มากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37,614 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมาภาคเหนือ  22,210 รายคิดเป็นร้อยละ 28  โดยส่วนใหญ่เป็นคนยากจน เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน สาเหตุของการเกิดโรคไม่แน่ชัด แต่มีส่วนจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารพืชผักบางชนิดที่มีออกซาเลตสูง หรือมีกรดยูริคสูง เช่น ยอดผักทั้งหลาย หน่อไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล รวมทั้งอาจเกิดจากระดับโปตัสเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้เกิดนิ่วได้ง่าย เช่น การรับประทานข้าวเหนียวที่ต้องแช่น้ำไว้นานก่อนหุงทำให้สูญเสียโปรแตสเซียมออกไป การทำงานที่ใช้แรงงานเสียเหงื่อมาก ทำให้เสียโปรแตสเซียมออกจากร่างกายมากขึ้น เป็นต้น  โดยก้อนนิ่วจะไปอุดตัน และทำให้เกิดติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยเจ็บปวดทุกข์ทรมาน และอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ถูกตัดไตทิ้ง บางรายเสียชีวิต

               การรักษาโรคนิ่วทางเดินปัสสาวะมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การใช้เครื่องสลายนิ่ว การใช้ยาควบคุมการเป็นกรด-ด่างของปัสสาวะ การใช้ยาปฏิชีวนะในรายที่มีการอักเสบติดเชื้อ สำหรับการสลายนิ่ว เป็นการใช้เครื่องมือชนิดพิเศษที่มีการนำคลื่นเสียงความถี่สูงกระแทกก้อนนิ่วให้แตกเป็นผงหรือเม็ดเล็กๆ แล้วขับออกจากร่างกายผ่านระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บป่วยน้อยกว่าการผ่าตัด ไม่มีอาการแทรกช้อน ไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน  ซึ่งขณะนี้มีบริการสลายนิ่วในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ

             สำหรับศูนย์สลายนิ่วโรงพยาบาลยโสธร  เป็นการร่วมกับบริษัทเอกชนที่ให้บริการเครื่องสลายนิ่ว คาดว่าจะรองรับผู้ป่วยโรคนิ่วในไตในพื้นที่จังหวัดยโสธรและใกล้เคียงได้ปีละประมาณ 700-800 ราย โดยผู้ป่วยสามารถใช้บริการได้ทุกสิทธิการรักษา

*************************************  19 ตุลาคม 2555



   
   


View 11    19/10/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ