วันนี้ (20 กรกฎาคม 2555)นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการรณรงค์กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์(Big Cleaning Day) ร่วมกับดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และแพทย์หญิงมนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมือเท้าปากในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งในวันนี้มีโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าร่วม 40 แห่ง และมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำชุดความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากจำนวน 200,000 ชุด โปสเตอร์ 100,000 แผ่น แผ่นพับความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน 150,000 แผ่น และอุปกรณ์ป้องกันโรคประกอบด้วย     เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย นำมามอบให้โรงเรียนและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการป้องกันควบคุมโรคดังกล่าว 

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พบในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา ประชาชนมีความตื่นตัวและร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี ล่าสุดสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยสะสมตั้งแต่มกราคม-16 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยกระจายทุกจังหวัดรวม 13,918 ราย ร้อยละ 94 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบได้น้อยในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิด ใช้ภาชนะอาหารหรือของใช้ร่วมกับผู้ป่วย และการรักษาสุขลักษณะ ได้แก่ การรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ
นายวิทยากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใย กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค กำชับแพทย์ให้ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากแก่ประชาชน เน้นการรักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หากมีผู้ป่วยสงสัยโรคมือเท้าปาก ที่มีไข้สูง ซึม ชัก หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์ และให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด กรณีพบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวัน  
ทั้งนี้ จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าสถานการณ์การป่วยโรคมือเท้าปาก อาจต่อเนื่องไปถึงเดือนกันยายน กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ร่วมเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการระบาดของโรค เน้นหนักที่ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานศึกษาระดับประถมศึกษาลงมา  และในชุมชน เน้นสุขอนามัยส่วนบุคคลและทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ทุกวัน หากพบเด็กป่วย ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ปฏิบัติตาม 3 มาตรการดังนี้1.แจ้งการระบาดที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวน ควบคุมโรค ให้คำแนะนำ 2.เผยแพร่คำแนะนำความรู้เรื่องโรคแก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันโรคติดต่อ เช่นการล้างมือ ความสะอาดของสภาพแวดล้อม แยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน 3.เฝ้าระวังโรค โดยให้ตรวจเด็กทุกคน หากพบคนใด มีอาการโรคมือเท้าปาก ต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน 7-10วัน หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่น ๆ                                                      
สำหรับการพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้น จะทำในกรณีที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2ราย และหากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5-7 วัน พร้อมทำความสะอาดอุปกรณ์รับประทานอาหารของเล่นเด็กและสถานที่ต่างๆ ได้แก่ สระว่ายน้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วม ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้น้ำยาฟอกขาว 20ซี.ซี. ต่อน้ำเปล่า 1ลิตร หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ส่วนสระว่ายน้ำต้องมีระดับคลอรีนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานคืออย่างน้อย 1มิลลิกรัมต่อลิตร และต้องหยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึงห้อง เชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากจะถูกทำลายด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ตในแสงแดด ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นานหรือถูกทำลายโดยการต้มที่อุณหภูมิความร้อน 50-60องศาเซลเซียส นาน 30นาทีหรือด้วยน้ำยาซักล้างทั่วไป  
ส่วนการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคมือเท้าปากระบาด ยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า10ปี เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีรายงานว่ากำลังเกิดโรคระบาด ผู้ปกครองเด็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด รักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย และไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และควรอยู่ในที่ที่มีระบายถ่ายเทอากาศได้ดี
   ************************************************ 20 กรกฎาคม 2555


   
   


View 13    20/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ