กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์เด็กแรกเกิดของไทยกว่า 70,000 คนมีต้นทุนชีวิตต่ำเพราะเกิดมามีน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด แม่ขาดสารอาหาร มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง ต้องสูญเงินดูแลมากถึงปีละ 2,000 ล้านบาท เร่งรณรงค์ให้หญิงฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์หรือก่อนอายุครรภ์ครบ 3 เดือน วันนี้ (23 เมษายน 2550) ที่โรงพยาบาลศิริราช กทม. นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งดำเนินการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นายแพทย์มรกต กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพอนามัยแม่และเด็กไทย ว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์งานอนามัยแม่และเด็กของกรมอนามัยล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2548 พบว่าคุณภาพเด็กไทยยังต้องมีการแก้ไขและพัฒนา ขณะนี้เด็กไทยเกิดใหม่เพิ่มปีละ 800,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลกำหนด คือ 2,500 กรัม จำนวนกว่า 70,000 คน หรือประมาณร้อยละ 9 ของการคลอด สาเหตุที่น้ำหนักตัวน้อยมาจากการเจริญเติบโตในครรภ์ช้ากว่าปกติ และคลอดก่อนกำหนดคือก่อน 37 สัปดาห์ เด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายเนื่องจากอวัยวะต่างๆ ในร่างกายยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ที่เสี่ยงที่สุดคือการขาดออกซิเจนเนื่องจากปอดทำงานไม่ดี เป็นสาเหตุหลักทำให้เด็กเสียชีวิตก่อนอายุครบ 7 วัน ปีละ 6,400 คน หรือพันละ 8 คน และเด็กกลุ่มนี้ยังต้องดูแลรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูงถึงรายละ 170,000 บาท หรือตกปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ต้องเร่งแก้ไขและป้องกันอย่างจริงจัง นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำคลินิกฝากครรภ์และห้องคลอด ให้สามารถดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ได้อย่างมีคุณภาพ และให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์หรือก่อนอายุครรภ์ครบ 3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาอวัยวะของเด็กในครรภ์ให้ครบถ้วน และให้ฝาก/ตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่องตามแพทย์นัดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมาพบหญิงตั้งครรภ์เพียงร้อยละ 60 หรือ 480,000 คนเท่านั้น ที่ฝากครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 3 เดือน และตรวจครรภ์ครบ 4 ครั้งเพียงร้อยละ 88 เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดและทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยมาจากสุขภาพแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่นการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ มีภาวะโลหิตจาง ภาวะโภชนาการไม่ดี มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่จัดหรือดื่มเหล้ามาก หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในการฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีตรวจครรภ์ ตรวจสุขภาพโดยละเอียดทั้งหัวใจ ปอด ความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด หากรุ๊ปเลือด เชื้อไวรัสตับอักเสบ ภาวะโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย และเชื้อไวรัสเอดส์ เพื่อประเมินภาวะเสี่ยงของแม่ฟรี หากพบจะได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิดทันท่วงที ขอให้หญิงตั้งครรภ์ไปฝากครรภ์ที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน และตรวจตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ตรวจหาอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น นายแพทย์ปราชญ์กล่าว ******************* 23 เมษายน 2550


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ