นายกรัฐมนตรีไทยเสนออาเซียน 10 ประเทศ ให้ความสำคัญการพัฒนาสุขภาพและบริการสุขภาพของประชาชนอาเซียนที่มีเกือบ 600 ล้านคน โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันสุขภาพซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจเป็นผลสำเร็จ

บ่ายวันนี้  (5 กรกฎาคม 2555) ที่โรงแรมโมเวนพิค อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 11 อย่างเป็นทางการ (11th ASEAN Health Ministers Meeting) หัวข้อหลักการประชุมครั้งนี้ คือ ประชาคมอาเซียน 2558 : โอกาสและความท้าทายด้านสุขภาพ (ASEAN Community 2015 : Opportunities and Challenges to Health)   มีรัฐมนตรีสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม  10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา โดยมีนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุก 2 ปี ในปี 2553 จัดที่ประเทศสิงค์โปร์

 
 
นายวิทยากล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้กล่าวสนุทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุม โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสุขภาพ ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจอาเซียน หนทางสำเร็จจะต้องมีการสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชนทั้ง 10 ประเทศอาเซียนที่มีเกือบ 600 ล้านคน ซึ่งจะเป็นต้นแบบการดำเนินงานและเป็นตัวอย่างของโลก โดยประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานมาแล้วกว่า 40 ปี และครอบคลุมประชากรได้ทั้งหมดในช่วง 10 ปีมานี้ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ช่วงที่ไทยมีรายได้ไม่มาก ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยเพียง 12,000 บาทต่อคนต่อปีเท่านั้น และบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อรายได้เพียง 70,000 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้นการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่จำเป็นรอให้ประเทศมีฐานะร่ำรวยก่อน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว เช่นเจ็บป่วยฉุกฉิน การเข้าถึงยาโรคเอดส์ การฟอกไตในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง เป็นต้น  
 
 
 สำหรับวาระการประชุมในวันนี้ มี  5 ประเด็น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาสุขภาพหลักและพัฒนาระบบริการสาธารณสุขของประเทศอาเซียน ได้แก่ 1.การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อน 2.การควบคุมบุหรี่ สุรา โดยเฉพาะมาตรการเรื่องภาษี เรื่องข้อตกลงการค้าเสรี เรื่องการห้ามทำซีเอสอาร์ (CSR) ของบริษัทบุหรี่/สุรา และการควบคุมบุหรี่เถื่อน 3.การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) 4.การลดปัญหาโรคเอดส์ และ 5.ความร่วมมือการสร้างเครือข่ายการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งไทยเป็นผู้ริเริ่มในการควบคุมป้องกันโรคระบาดต่างๆ
 
 
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคไม่ติดต่อในภาพรวมของอาเซียนมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกประเทศ มีรายงานเสียชีวิตปีละ  2.5 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 60 ของการตายทั้งหมด ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อสูงขึ้นมาจาก  4  ปัจจัย ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม โรคเรื้อรังที่ป่วยมากที่สุด  4 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวานชนิดที่ไม่ใช่กรรมพันธุ์ และมะเร็งโดยทิศทางเป็นไปในแนวเดียวกันกับทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลกรายงานทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อปีละ 36 ล้านคนจากผู้เสียชีวิตทั้งหมดปีละ 57 ล้านคน โดยเสียชิวตจากโรคหัวใจอันดับ 1 ร้อยละ 48 รองลงมาคือมะเร็งร้อยละ 21 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังร้อยละ 12 และจากเบาหวานร้อยละ 3 
 
 
 ในการแก้ไขปัญหาจะต้องเร่งรัดมาตรการต่อรองที่จะทำให้ประชาชนลดละเลิกการสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เพิ่มการออกกำลังกาย เพิ่มระบบการตรวจคัดกรองหากลุ่มเสี่ยงและคนป่วย เพื่อดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโรคแทรกซ้อน รวมทั้งการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และให้ความรู้การดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพดี
 
สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ในอาเซียนล่าสุดในปี 2552 มีรายงานผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 1.5 ล้านคน โดยเป็นผู้ใหญ่ประมาณ 1.4 ล้านคน เป็นหญิงประมาณ 5 แสนคน และมีรายงานเสียชีวิตประมาณ 100,000 คน สาเหตุการติดเชื้อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การฉีดยาเสพติดเข้าเส้น 
      
ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีแต่ละประเทศได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยเฉพาะประเด็นความสำคัญของสุขภาพหลังจากที่เข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในส่วนของไทยได้ให้ความสำคัญ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมือง ผลกระทบที่ตามมาจะทำให้ประชากรในภูมิภาคและสินค้าต่างๆจะเดินทางเข้าสู่ประเทศต่างๆได้อย่างเสรี กระทรวงสาธารณสุขแต่ละประเทศ จะต้องร่วมมือกันสร้างระบบสุขภาพที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ทั้งของประเทศตัวเองและในอาเซียน การรวมพลังกันจะแก้ปัญหาได้อย่างทันที แทนที่จะทำแบบต่างคนต่างทำ
 
 
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมรัฐมนตรี  10 ประเทศ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ร่วมในความร่วมมือ เพื่อพัฒนาสุขภาพอย่างจริงจัง ได้แก่ 1.การร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่การประชุมผู้นำในเวทีอาเซียนซัมมิท (ASEAN Summit) และสมัชชาสหประชาชาติ การจัดตั้งเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอาเซียนบวก 3 คือจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยไทยรับเป็นประเทศหลัก 2.การร่วมกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งตามข้อตกลงสหประชาชาติเรื่องโรคไม่ติดต่อภายใต้ตัวชี้วัด และเป้าหมายที่กำหนดจากองค์การอนามัยโลก มุ่งเน้นทั้งมาตรการที่ดำเนินการเฉพาะบุคคล ครอบครัว และมาตรการที่มีผลทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำหนดพฤติกรรมสุขภาพ 3.การร่วมมือกันดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการบรรลุข้อตกลงด้านการควบคุมโรคเอดส์ให้เข้าสู่การเป็นศูนย์หรือทริปเปิล ซีโร่ ทาร์เก็ต (Triple Zero Targets) คือ ไม่มีการกีดกันผู้ติดเชื้อ ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีคนตายจากเอดส์ 4.การร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการดำเนินการจัดการกับปัญหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ รวมทั้งโรคที่สำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียดื้อยา โดยจะต้องเน้นการรณรงค์กำจัดรากของปัญหา การจัดหาและการใช้ยา รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายนักระบาดวิทยา ในอาเซียน ที่ไทยเป็นหลักด้วย
 
 
***************************** 5 กรกฎาคม 2555


   
   


View 10    05/07/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ