กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ และโรงพยาบาล          คำม่วง ลงตรวจสอบกรณีหมอเถื่อน ตรวจสุขภาพนักเรียนและใช้เข็มเจาะเลือดร่วมกัน ที่วิทยาลัยการอาชีพคำม่วง โดยจะคัดกรองเด็กที่มีความเสี่ยง และเจาะเลือดตรวจซ้ำว่ามีการติดเชื้อหรือไม่และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ย้ำผู้บริหารโรงเรียนเข้มงวดในการจัดหาทีมแพทย์ตรวจสุขภาพที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมถูกต้องตามกฎหมาย

 

          จากกรณีที่กลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยกรอาชีพคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ ให้จับกุม กลุ่มหมอเถื่อน 9 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่ถูกตำรวจจับได้ที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก ซึ่งได้มาตรวจสุขภาพประจำปีให้นักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพ และมีการเจาะเลือด โดยใช้เข็มเก่าซ้ำๆกัน เกรงว่าจะติดเชื้อและได้รับอันตรายจากการตรวจสุขภาพครั้งนี้ โดยมีนักศึกษาถูกเจาะเลือดไปทั้งหมด 406 คน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมานั้น  
       
          ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว วันนี้ (29 มิถุนายน 2555) นายแพทย์ทวีเกียรติ บุญยไพศาลเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 ซึ่งดูแลพื้นจ.กาฬสินธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ และรพ.คำม่วง ประสานกับผู้บริหารของวิทยาลัยการอาชีพคำม่วง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาที่ได้รับการเจาะเลือดโดยใช้เข็มร่วมกันถ้ามีจริง หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อใดๆ ทางรพ.จะทำการตรวจเลือดซ้ำในเวลาที่เหมาะสม หรือหากไม่สบายใจ ต้องการตรวจเลือดเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานก็จะดำเนินการให้ตามความสมัครใจ ขณะเดียวกันได้ให้ความรู้แก่นักเรียนในการดูแลสุขภาพ เพื่อคลี่คลายความวิตกกังวล นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับผู้บริหารวิทยาลัยการอาชีพอีก 2 แห่งใน จ.กาฬสินธุ์ คือ วิทยาลัยการอาชีพห้วยผึ้ง และหนองกุงศรี เพื่อดำเนินการในลักษณะเดียวกัน
 
          นายแพทย์ทวีเกียรติ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปการตรวจสุขภาพประจำปีให้เด็กนักเรียน นักศึกษาจะเน้นการตรวจเบื้องต้น ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจวัดดัชนีมวลกาย เพื่อประเมินความอ้วน ตรวจวัดสายตา และฟังปอด ฟังการเต้นของหัวใจ นักเรียนรายใดที่มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของปอด หรือมีความผิดปกติ ก็จะมีการตรวจเพิ่มเติมในขั้นต่อไป เช่น การเอ็กซเรย์ปอด หรือเจาะเลือดเพื่อตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ในรายที่มีปัญหาซีด สงสัยเป็นธาลัสซีเมีย หรือมีไข้ หรือในรายที่พบมีปัญหาตับโต หรือ อ้วนมาก และมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น อย่างไรก็ตามขอย้ำเตือนให้ผู้บริหารสถานคึกษาหรือสถานประกอบการทั่วประเทศ หากต้องการให้หน่วยแพทย์ ไปตรวจสุขภาพนักเรียน นักศึกษา หรือพนักงาน สามารถติดต่อหน่วยแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในพื้นที่ หรือโรงพยาบาลภาครัฐอื่นๆ หากจะติดต่อทีมสุขภาพอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยและบริการที่มีคุณภาพ ควรประสานงานขอข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน
 
          ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันนั้น เสี่ยงต่อการติดโรคผิวหนังอักเสบ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากติดเชื้อเอช ไอ วี เอดส์ เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี หรือโรคมาลาเรีย ซึ่งผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นต้องสังเกตตนเอง หากติดเชื้อโรคตับอักเสบจะมีอาการ ตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้สูง ในระยะยาวอาจจะทำให้เป็นโรคมะเร็งตับ ส่วนโรคเอดส์กว่าจะพบการติดเชื้อใช้เวลานานเป็นปี บางรายนานถึง 5 ปี ดังนั้นไม่ควรรอให้เกิดอาการก่อน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด ส่วนโรคมาลาเรียนั้น จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่จะจัดให้มีการตรวจสุขภาพ ควรเลือกบุคลากรจากสถานบริการของรัฐ หรือหน่วยงานที่มีสถานที่ชัดเจน เช่น โรงพยาบาลเอกชน ผู้ปฏิบัติงานมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะมีความรู้ในการดำเนินการตรวจสุขภาพได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ                                                             
  ***************** 29 มิถุนายน 2555


   
   


View 10    29/06/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ