วันนี้ (17 พฤษภาคม 2555) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการพยาบาลชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2555 จัดโดยสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพในชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างเสริมให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย
นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายในการพัฒนาบริการต่างๆ ซึ่งในปี 2555 นี้เน้นหนัก 7 เรื่อง โดยให้ทุกจังหวัด และสถานบริการในสังกัดทุกแห่ง เร่งดำเนินการให้เห็นผลภายใน 4 เดือน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการบำบัดรักษาผู้เสพผู้ติดยา มีเป้าหมายบำบัดให้ได้ 400,000 คน และการควบคุมตัวยาและสารตั้งต้น ป้องกันการนำไปใช้ผลิตยาเสพติด 2.พัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่งทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพในการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไป และดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ให้ได้รับบริการใกล้บ้านที่สุด  3.ลดความเหลื่อมล้ำผู้ป่วย 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ  4.สร้างเสริมนำซ่อมสุขภาพ เช่น การตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง การสร้างหมู่บ้านหรือชุมชนสุขภาพดีวิถีไทย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ไม่พึ่งสารเสพติด รวมทั้งสุรา และบุหรี่ด้วย
5.การลดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน โดยรณรงค์ให้มีการสวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ส่วนผู้ที่ใช้รถยนต์ รณรงค์ให้ติดตั้งและใช้เข็มขัดนิรภัย โดยเฉพาะรถยนต์ของกระทรวงสาธารณสุข ต้องทำเป็นตัวอย่าง 6.อาหารปลอดภัย โดยเฉพาะโรงครัวของโรงพยาบาล รวมทั้งร้านจำหน่ายอาหารในโรงพยาบาลทุกแห่ง และโรงพยาบาลทุกแห่ง จะต้องจัดเมนูชูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยทั่วไป มีเมนูอาหารเฉพาะโรค และเมนูสุขภาพอาหารว่างส่วนโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชาวไทยมุสลิม จะต้องบริการอาหารฮาลาลให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการในโรงพยาบาล 19 แห่ง และ 7.การลดโรคเพิ่มสุข ได้แก่ โครงการ 70 ปีไม่มีคิว โครงการฝากครรภ์คุณภาพเพื่อพัฒนาคุณภาพเด็กไทยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และการดูแลพัฒนาการเด็กปฐมวัย ให้ได้มาตรฐาน เป้าหมายในปีนี้ 400,000 ราย
นายวิทยากล่าวอีกว่า ปัจจุบันประชาชนและชุมชนมีศักยภาพมาก ในการดำเนินงานด้านสาธารณสุขและสุขภาพในชุมชน ในฐานะที่พยาบาลชุมชนเป็นผู้ให้บริการ และเป็นผู้ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนในชุมชน ไม่ควรมองว่าประชาชนเป็นภาชนะที่ว่างเปล่า จะเอาอะไรไปใส่ก็ได้ เพราะหากทำอย่างนั้น งานทุกอย่างก็คงไม่สำเร็จ และถึงจะสำเร็จก็เป็นความสำเร็จที่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการและอยากทำ แต่หากคนที่ทำงานร่วมกับชุมชนมีความจริงใจที่ดีต่อชุมชน พยายามเรียนรู้ที่จะเข้าใจ และมองหาคุณค่าในสิ่งต่างๆที่อยู่ในชุมชน เช่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม พฤติกรรม สังคม สิ่งแวดล้อม การยอมรับนับถือกัน รวมทั้งการปฏิสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงถึงกัน จะทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ โดยพลังอำนาจที่มีอยู่ในชุมชน และเมื่อประชาชนมีสุขภาพดี จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งตามไปด้วย

***************************** 17 พฤษภาคม 2555



   
   


View 9    17/05/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ