วันนี้( 2 พฤษภาคม 2555 ) ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชัย นิจพาณิชย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร พร้อมร่วมลงนามความร่วมมือ การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ กับ 5หน่วยงาน ได้แก่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือกับหน่วยการต่างๆครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะร่วนกันดำเนินงานแบบบูรณาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ เพื่อทำให้อาหารปลอดภัย ลดการใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ และขจัดน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อมสภาพออกจากระบบอาหาร ซึ่งมีการดำเนินการและประชุมร่วมกันมาโดยตลอด โดยมีมาตรตราการสำคัญ 2 ส่วน คือ 1.ให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ผู้ทอดอาหาร เช่น กล้วยทอด ปาท่องโก๋ หรือเป็นรายใหญ่ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือในโรงแรมใหญ่ๆ จะสร้างจิตสำนึกให้ระมัดระวังที่จะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ให้ใช้น้ำมันเฉพาะที่ยังไม่เสื่อมสภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะต้องมีแจ้งรายละเอียดของการทอดอาหารแต่ละชนิด
นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ประการที่ 2 คือการขจัดน้ำมันทอดซ้ำที่เสื่อสภาพออกนอกวงการอาหาร โดยนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนหรือไบโอดีเซล ซึ่งจะเป็นการตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำ ไม่ให้มีการหมุนเวียนกลับมาใช้อีก โดยส่วนนี้จะมีความร่วมมือของ 2 ภาคส่วนคือ ผู้ประกอบการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศรวมทั้งกรุงเทพมหานคร โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลควบคุมมาตรการในเรื่องของอาหารปลอดภัย ส่วนระดับจังหวัดจะมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารปลอดภัยระดับจังหวัด นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กรมควบคุมมลพิษ จะร่วมกันเสริมความรู้ ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทางสื่อต่างๆเพื่อประชาชนได้เป็นผู้ควบคุม ร่วมแก้ไขปัญหาอีกด้านหนึ่ง
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบร้านอาหาร จะให้กรมอนามัยและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าร้านอาหารใดที่มีความปลอดภัยและให้ความสำคัญในการไม่นำน้ำมันทอดซ้ำมาใช้ประกอบอาหาร กระทรวงสาธารณสุขจะมีป้ายอาหารปลอดภัย หรือสัญลักษณ์ ติดประกาศให้ประชาชนทราบ และเผยแพร่ความรู้ประชาชนให้รู้จักการสังเกตุลักษณะของอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นไหม้ หรืออาหารอาจจะมีสีดำคล้ำผิดปกติ รวมทั้งพิษภัยของน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคมะเร็งต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนเลือกซื้อเลือกบริโภคอาหารได้ง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศเกี่ยวกับปริมาณของสารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ กำหนดไม่เกินร้อยละ 25 และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ผลิตชุดทดสอบสารโพลาร์ ซึ่งเป็นชุดทดสอบที่มีประสิทธิภาพสูง ราคาถูก มอบให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานที่ดำเนินการควบคุมด้วย นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าว
********************************************* 2 พฤษภาคม 2555
View 14
03/05/2555
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ