วันนี้ (20 เมษายน 2555) นายแพทย์สุรวิทย์  คนสมบูรณ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมลีการ์เดนส์ ที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาลหาดใหญ่  อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากนั้นเปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตและจิตเวชในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ สตูล ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพจิตเขต  รวม 60 คน ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลหาดใหญ่  เพื่อมอบนโยบายการบูรณาการงานสุขภาพจิตในระบบสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  และหารูปแบบบริการที่สามารถให้การดูแลสุขภาพจิตประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น

                  นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า  จากการติดตามปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน โดยเฉพาะใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่างพบว่า ค่อนข้างซับซ้อนกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากประชาชนยังคงต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี   รวมทั้งลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และประเพณีที่มีลักษณะเฉพาะ ทำให้ประชาชนเกิดความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัว และหวาดระแวงในความปลอดภัยและความเสี่ยงในชีวิต  กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบการเยียวยาจิตใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจในโรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทุกแห่ง  จัดนักจิตวิทยา  และพยาบาลวิชาชีพ แห่งละ 1-2 คน เพื่อดูแลสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต  โดยมีศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จ.ปัตตานี และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์เป็นแม่ข่าย 
 

                   นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า  จากข้อมูลการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบในชายแดนใต้ ซึ่งมีผู้ที่ต้องติดตามดูแลจำนวน 4,854 ราย  เป็นชาย 3,375 ราย หญิง 1,479 ราย ในจำนวนนี้ มีร้อยละ 9 หรือจำนวน 450 ราย แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคเครียดหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่นนอนไม่หลับ  กระวนกระวาย เห็นภาพเหตุการณ์หลอน  ตกใจง่าย ต้องกินยาควบคุมอาการ   และมีร้อยละ 22 หรือ 1,087 ราย เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจากการติดตามเยียวยาอย่างต่อเนื่องโดยทีมสหวิชาชีพพบว่า ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตลดลงร้อยละ 83 แต่อย่างก็ตามการเข้าไปดูแลในพื้นที่ยังมีข้อจำกัด จะต้องใช้วิธีบูรณาการร่วมกับงานอื่น  

                  นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ยังพบปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต จากการใช้สารเสพติดประมาณร้อยละ30   ของผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด   ซึ่งจะต้องนำผู้ที่เสพมาบำบัดรักษาให้เป็นปกติ และเร่งให้ความรู้ ทักษะชีวิตเพื่อป้องกันในกลุ่มเสี่ยง  รวมทั้งผลสำรวจสุขภาพจิตในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง พบปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ ระดับสติปัญญา หรือไอคิวของเด็กวัยเรียนในบางจังหวัดอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นที่อื่น  ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ภาวะโภชนาการ การเลี้ยงดู รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบการเรียนรู้ของเด็ก                                                                                          
                ได้กำชับให้ผู้บริหารในพื้นที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบโดยเร่งดำเนินการ 2เรื่อง คือ 1.ด้านโภชนาการ ให้เพิ่มการกระจายเกลือไอโอดีนให้เด็กและหญิงตั้งครรภ์  2.เสริมสร้างความสัมพันธ์ครอบครัวตามโครงการของกรมสุขภาพจิตคือ กิน กอด เล่น เล่า เริ่มต้นจากการกินให้ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่  พ่อแม่กอดสัมผัสลูก เพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว เล่นให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ที่เหมาะสม และเล่านิทานเสริมสร้างประสบการณ์และการเรียนรู้แก่เด็ก เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษาต่อไป

****************************** 20 เมษายน 2555



   
   


View 8       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ