รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้ผลดี ประชาชนได้รับบริการสะดวก พบปัญหาเรื่องการติดต่อ 1669 รับผู้ป่วยในกทม.เพียง 1 ราย เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งศูนย์ประสานงานแจ้งเหตุป่วยฉุกเฉิน จุดเดียว เบอร์เดียวทั่วไทยในอนาคต

          วันนี้ (18 เมษายน 2555) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้บริการประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินร่วมของ 3 กองทุนสุขภาพ ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา บริการส่วนใหญ่เป็นไปด้วยดี พบความบกพร่องเพียงแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ คือปัญหาการโทรแจ้งผู้ป่วยฉุกเฉินโทร 1669 ในเขตกทม.แล้วผู้รับสายให้โทรไป 1646 ซึ่งเป็นหมายเลขของกทม.  ซึ่งรู้สึกไม่สบายใจ ได้สอบถามข้อเท็จจริงไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติแล้ว เท่าที่ทราบมีเพียง 1 ราย เพราะในทางปฏิบัติเมื่อโทร 1669 เจ้าหน้าที่สามารถจะโอนสายส่งต่อไปยังกทม.ได้ ทราบว่าได้มีการแจ้งประสานงานไป แต่อาจเกิดความคลาดเคลื่อน ตามแนวคิดในการติดต่อแจ้งเหตุกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินในอนาคต ควรมีเลขหมายเดียวกันทั่วประเทศรวมทั้งกทม.ด้วย เพราะต้องยอมรับว่าต่อไปนี้ ทั้งอุบัติภัย เหตุฉุกเฉินต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะมีหลากหลายรูปแบบ ควรมีศูนย์กลางในการติดต่อประสานงานเพียงจุดเดียว ซึ่งจะต้องหารือผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลประชาชนต่อไป

          นายวิทยากล่าวต่อว่า ระบบการติดต่อแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน มีเปอร์เซนต์ผิดพลาดน้อยมาก ถึงแม้จะเป็นส่วนน้อย ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าระบบเจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ต้องถามสิทธิ รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน ตามแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยรับบริการประมาณ 400 กว่าราย มีทั้งข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่ประสบความสำเร็จก็คือประชาชนได้เข้าถึงการบริการที่สะดวกขึ้น อาจมีจุดบกพร่องอยู่บ้างแต่ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า

 ยืนยันว่าเมื่อโทรแจ้ง 1669 จะมีทีมกู้ชีพพร้อมรถพยาบาลฉุกเฉินให้บริการ ณ ที่จุดเหตุ เพราะมีทีมจากมูลนิธิต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเครือข่ายร่วมปฏิบัติงานด้วย แต่ในจุดเกิดเหตุในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างกทม.หรือส่วนราชการอื่นที่ยังไม่มีความชี้ชัด อาจพบปัญหาได้บ้าง ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนในต่างจังหวัดยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งได้กำชับให้เข้มมาตรฐานถึงที่จุดเหตุภายใน 10 นาที 

นายวิทยากล่าวต่อไปว่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ได้มอบให้กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เริ่มดำเนินการตามนโยบาย 70 ปี ไม่มีคิว และให้องค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ในการติดตามดูแลผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงที่บ้าน ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  เช่น การดูแลแผลกดทับ ภาวะโภชนาการ โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากความชรา เช่น โรคระบบกล้ามเนื้อและข้อ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์อัมพาต เป็นต้น 

                                             *****************************  18 เมษายน 2555

 



   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ