กระทรวงสาธารณสุข เร่งขยายบริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตไปที่โรงพยาบาลศูนย์ในส่วนภูมิภาคทุกภาคและให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 94 แห่งทั่วประเทศ เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุและอยู่ในภาวะสมองตาย ซึ่งแต่ละปีมีประมาณ 13,000 คน พร้อมเชิญชวนคนไทยแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ซึ่งผู้บริจาค 1 คน จะชุบชีวิตใหม่ให้คนป่วยที่รอความหวัง ได้เกือบ 10 ชีวิต

                   วันนี้ (7 มีนาคม 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะสภากาชาดไทย สาขาโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้สามารถผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้ที่มีภาวะสมองตาย เป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในต่างจังหวัด

                  นายวิทยากล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทย มีปัญหาอวัยวะภายในร่างกายเสื่อมสภาพมากขึ้น เช่น ไตวายเรื้อรัง ตับวาย หัวใจวาย โรคปอดระยะสุดท้าย สาเหตุเกิดมาจากป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้นที่พบมากคือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ มีผู้ป่วยประมาณปีละกว่า 1 ล้านคน โดยมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรค เป็นภัยเงียบที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรณรงค์ค้นหา ป้องกันและแก้ไข

                 นายวิทยากล่าวต่อว่า ในผู้ป่วยที่มีปัญหาอวัยวะเสื่อมหน้าที่แล้ว มีนโยบายเร่งพัฒนาให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขที่มี 33 แห่งทั่วประเทศ และตั้งอยู่ในต่างจังหวัด มีแพทย์และเครื่องมือพร้อม ให้เป็นศูนย์ผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะ(Organ Transplant Center) เนื่องจากที่ผ่านมาบริการปลูกถ่ายอวัยวะส่วนใหญ่ จะทำในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและในโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้าคิวรอยาว โดยจะเริ่มที่การผ่าตัดปลูกถ่ายไตก่อน เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องฟอกไตยืดชีวิตและขึ้นทะเบียนรอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจำนวนมากกว่า 30,000 ราย แต่มีผู้ป่วยที่โชคดีได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตเพียงปีละ 200-300 รายเท่านั้น ขณะนี้โรงพยาบาลในต่างจังหวัดที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้บริการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้แล้ว อาทิ รพ.ขอนแก่น รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี รพ.ชลบุรี รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก และรพ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

               ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในการพัฒนาระบบความพร้อมการเปิดให้บริการปลูกถ่ายไตแก่ประชาชนที่ขึ้นคิวรอรักษาผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศที่มี 94 แห่ง เป็นศูนย์เครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนและอยู่ในภาวะสมองตายแล้ว ซึ่งมีผู้ป่วยประเภทนี้ปีละประมาณ 13,000 ราย เพื่อให้ประชาชนในต่างจังหวัดเข้าถึงบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะขอบริจาคจากญาติโดยความสมัครใจ เพื่อเป็นการสร้างกุศลให้ผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งผู้บริจาค 1 คนสามารถช่วยชุบชีวิตใหม่ให้ผู้ป่วยได้เกือบ 10 คน คือช่วยผู้ป่วยโรคไตวาย 2 คน หัวใจวาย 1 คน ตับวาย 1 คน ผู้ป่วยตาบอด 2 คน ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยโลหิตจางธาลัสซีเมียรุนแรง

               ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยในช่วง 18 ปี ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2537-31 มกราคม 2555 มีประชาชนแสดงความจำนงขอบริจาคอวัยวะ จำนวน 627,594 คน แต่มีผู้ได้บริจาคอวัยวะหลังเสียชีวิตแล้ว (Deceased Donor) รวม 1,182 ราย มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 2,753 ราย และมีอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย 5,202 อวัยวะ มากที่สุดคือ ไต 2,125 ราย รองลงมาลิ้นหัวใจ 1,259 ราย ดวงตา 1,133 ราย ตับ 457 ราย หัวใจ 96 ราย กระดูก 47 ราย หัวใจ-ปอด 35 ราย เป็นต้น เฉพาะปี 2554 มีจำนวนผู้บริจาคอวัยวะ 113 ราย นำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้ผู้ป่วยได้ 276 ราย

                ด้านนายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ กล่าวว่า โรงพยาบาลฯได้รับการรับรองจากสภากาชาดไทยให้เป็นศูนย์รับบริจาคอวัยวะ มานาน 10 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2552 - กุมภาพันธ์ 2555 มีประชาชนทั่วไปแสดงความจำนงขอบริจาคอวัยวะ 2,448 ราย ส่วนใหญ่บริจาคดวงตา 2,250 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตายบริจาคอวัยวะให้สภากาชาดไทยผ่านโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ 179 ราย ประกอบด้วย ไต 332 ไต ตับ 68 ตับ ลิ้นหัวใจ 196 ลิ้น ดวงตา 129 ดวงและปอด 5 ปอด

                สำหรับการบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ขณะนี้มีศูนย์ไตเทียมทั้งหมด 3 ศูนย์ มีเครื่องไตเทียม 54 เครื่อง ผู้ป่วยฟอกเลือด จำนวน 268 ราย เฉลี่ยวันละ 170 ราย ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง 395 ราย มีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายไต 43 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 27 ราย โดยเป็นไตที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยอุบัติเหตุสมองตาย จำนวน 8 ราย นับเป็นโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ แห่งแรกที่สามารถทำการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตายได้สำเร็จ เมื่อปี 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะอื่น เช่น ปลูกถ่ายไขกระดูก

                                             ******************************************** 7 มีนาคม 2555



   
   


View 10       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ