นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดติดตามการดำเนินงานจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ เข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน โดยใช้ราคากลางของกรมบัญชีกลาง 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ตามระบบดีอาร์จี หากระบบมีความพร้อม ให้เร่งดำเนินการทั้งภาครัฐและเอกชนพร้อมกันทั่วประเทศ และเตรียมบูรณาการบริการร่วมอีก 2 โรค คือโรคเอดส์ และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย

           นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการบูรณาการ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐคือกองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการราชการและกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน หลังจากที่มีนโยบายการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้ได้รับบริการที่เร็วที่สุด ซึ่งจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ไม่มีการทวงถามสิทธิ์อีกต่อไป ไม่มีการสำรองจ่ายเงินล่วงหน้าว่า  ในการเตรียมพร้อมเริ่มระบบบริการดังกล่าว ได้มอบหมายให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หารือข้อสรุปการบริหารค่าใช้จ่ายในระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมกัน ของ 3 กองทุนให้เสมอภาคและเท่าเทียมกัน

            นายวิทยากล่าวต่อว่า ผลการประชุมเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 ที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ข้อสรุปดังนี้ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการกับโรงพยาบาลในเครือข่าย 3 กองทุน ระบบการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้ง 3 กองทุน   กรณีบริการผู้ป่วยฉุกเฉินในโรงพยาบาลที่อยู่นอกระบบของ 3 กองทุน ให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลอัตราเดียวกันและให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยระบบจ่ายกลาง (Clearing house) ในการจ่ายค่าชดเชยบริการ ให้ใช้อัตราของกรมบัญชีกลาง คือ 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ตามระบบดีอาร์จี   หากระบบต่างๆมีความพร้อม ก็จะเร่งดำเนินการทั้งโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ โดยจะนำเข้าที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 13 มีนาคม 2555 นี้

       ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ตนเป็นแกนกลาง ประสานระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษาต่อในโรงพยาบาลสังกัดของมหาวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีและเต็มที่ ตามมาตรฐานวิชาชีพ  หลังจากได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งหมดแล้ว จะให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติแก่โรงพยาบาลในสังกัด และประสานโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย ตำรวจ กลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียว
 
           นายวิทยากล่าวต่ออีกว่า  หลังจากที่นำระบบบริการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินของ 3 กองทุนเป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้ว ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีขั้นต่อไปก็คือ จะบูรณาการบริการร่วมกันอีก 2 โรค ได้แก่ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย   และผู้ติดเชื้อเอชไอวี/โรคเอดส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคเอดส์ที่อายุยังน้อย ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิได้ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสต่อเนื่อง ป้องกันการดื้อยา จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการการให้บริการร่วมทั้ง 3 กองทุน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 3 กองทุน โดยมีนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เป็นประธานเพื่อศึกษารายละเอียดและหาข้อสรุปร่วมกัน โดยจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีในเร็วๆนี้                      
***********    4 กุมภาพันธ์ 2555      
                                     
                                      
 
 


   
   


View 11    04/03/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ