รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้สภาพอากาศปีนี้น่าห่วง อาจเกิดไฟป่าได้ง่าย ก่อหมอกละอองควันไฟใน 8 จังหวัดภาคเหนือรุนแรงขึ้น     พร้อมสั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคติดต่อที่มากับภัยแล้ง ฤดูร้อน ที่พบบ่อย 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค และไข้ไทฟอยด์ ใช้ 4 มาตรการหลัก อาทิ ควบคุมมาตรฐานน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำดื่ม น้ำแข็ง ความสะอาดตลาดสด ร้านอาหาร แผงลอย ห้องครัว และส้วม   เผยในปี 2555 นี้พบผู้ป่วยจาก 5 โรคนี้กว่า 6 หมื่นราย เสียชีวิต 2 ราย

 
             นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากขณะนี้ เป็นช่วงที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่เริ่มร้อนและแห้งแล้งนี้ เหมาะต่อการเจริญเติบโตและการแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด ดังนั้นในบางพื้นที่ของประเทศที่ประสบกับภาวะแล้งในช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   อาจเกิดการระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ได้ ที่พบบ่อยมีรายงานผู้ป่วยทุกปี คือโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ซึ่งมี 5 โรคได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย และโรคอหิวาตกโรค สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งในปีนี้น่าเป็นห่วง อาจเกิดไฟป่าได้ง่ายและเพิ่มปัญหาหมอกละอองควันไฟรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน
 
นายวิทยากล่าวว่า ในการป้องกันโรคหน้าร้อนตั้งแต่เนิ่นๆ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการ 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ให้เฝ้าระวังโรคในพื้นที่ หากพบมีผู้ป่วยเกิดขึ้น ให้รีบดำเนินการควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดทันที 2.ให้ดูแลควบคุมมาตรฐานน้ำประปา โรงงานผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด โรงงงานผลิตน้ำแข็ง ซึ่งในฤดูร้อนยอดการบริโภคน้ำแข็งน้ำดื่มจะสูงขึ้นกว่าฤดูกาลอื่นๆ    3. ดูแลกวดขันความสะอาดโรงอาหารโรงเรียน ร้านอาหาร แผงลอยจำหน่ายอาหาร และตลาดสด ขอความร่วมมือผู้ประกอบการดูแลความสะอาดส้วมสาธารณะต่างๆเช่นที่ปั้มน้ำมันเป็นต้น และ 4. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนให้รู้จักอาการของโรค การปฏิบัติตัวที่จะไม่ให้ป่วย และขอความร่วมมือให้การดูแลความสะอาดห้องส้วม ห้องครัว
 
สำหรับปัญหาหมอกควันใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้มอบหมายให้นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลกระทบทางสุขภาพและวางมาตรการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือประชาชนด้านสุขภาพร่วมกับพื้นที่ ซึ่งได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และให้เผยแพร่ความรู้ในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชนแล้ว
   
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำ เป็นโรคที่พบบ่อยรองจากไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคแบคทีเรีย เชื้อชนิดนี้ฟักตัวได้ดีในสภาพอากาศร้อน จัดเป็นโรคที่พบประจำในประเทศเขตร้อน เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป        ในเดือนแรกของปี 2555 นี้ มีรายงานผู้ป่วยทั้ง 5 โรค รวม 63,152 ราย เสียชีวิต 2 ราย โรคที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง 57,592 ราย มีรายงานเสียชีวิต 2 ราย   ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือโรคอาหารเป็นพิษ 4,815 ราย โรคบิด 453 ราย ไทฟอยด์ 63 ราย และโรคอหิวาตกโรค 2 ราย  ตลอดปี 2554 มีรายงานผู้ป่วยจาก 5 โรคดังกล่าว รวม 1,412,803 ราย เสียชีวิต 64 ราย
 
การป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ขอให้ประชาชนดูแลความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ กำจัดขยะมูลฝอย   แยกเขียงและมีดหั่นอาหารดิบกับอาหารสุก     และให้ยึดหลักปฏิบัติ คือ1.กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสนิทและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารข้ามมื้อให้อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อน 2.ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น และ 3.ให้ล้างมือ ฟอกสบู่ทุกครั้งภายหลังจากใช้ห้องส้วม และก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว
 
ทางด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคติดต่อทางอาหารและน้ำแม้ว่าจะมีสาเหตุเกิดโรคต่างกัน แต่การติดต่อคล้ายคลึงกันคือเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป      เช่นอาหารปรุงสุกๆดิบๆ เช่นลาบ ก้อย หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ โดยไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวข้างต้น สามารถแพร่เชื้อได้ทางอุจจาระ และติดมากับมือ หากเป็นผู้ปรุงอาหารหรือเสิร์ฟอาหาร จะมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มาก
 
นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า ผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคคั่งค้างในร่างกาย จะเป็นอันตรายรุนแรงขึ้น ขอให้ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเหลวมากๆ และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือโออาร์เอส แทนน้ำ โดยใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง ผสมกับน้ำต้มสุกเย็น 1 แก้ว ประมาณ 250 ซี.ซี. หากไม่มีผงเกลือแร่สำเร็จ สามารถปรุงเองได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายกับน้ำต้มสุกเย็น 1 ขวดน้ำปลากลม ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ เพื่อทดแทนเสียน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับน้ำอุจจาระ ควรดื่มสารละลายเกลือแร่ที่ผสมแล้วให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเหลือให้ทิ้ง แล้วผสมใหม่วันต่อวัน หลังดื่มแล้วอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้น แต่หากยังไม่หยุดถ่ายและมีอาการมากขึ้น เช่นอาเจียนมากขึ้น อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเน่าคล้ายหัวกุ้งเน่า ปวดบิด มีไข้สูงขึ้นหรือชัก ควรพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 
 
***************    26 กุมภาพันธ์ 2555
 


   
   


View 15    26/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ