วันนี้ (21 กุมภาพันธ์ 2555) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กทม. นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมประจำปีประเทศเครือข่ายนวัตกรรมการสาธารณสุขมูลฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีพิน (SEAPIN : South-East Asia Primary Health Care Innovations Network) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 23 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก สนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก เพื่อให้ประเทศสมาชิกร่วมพิจารณาร่างธรรมนูญและร่างปฏิญญากำหนดทิศทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อร่วมผลักดันให้เป็นนโยบายของแต่ละประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 8 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ เนปาล ภูฏาน ไต้หวัน อินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเซีย และไทย รวมทั้งเปิดโอกาสให้นำเสนอนวัตกรรมด้านสาธารณสุขมูลฐานของแต่ละประเทศด้วย  

นายแพทย์วิชัยกล่าวว่า ประเทศไทยได้นำการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งเป็นงานที่ใช้อาสาสมัครภาคประชาชนหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. เข้ามามีส่วนในการพัฒนาสุขภาพของประชาชนตั้งแต่ พ.ศ. 2521 รวมกว่า 30 ปี ขณะนี้ประสบผลสำเร็จ โดยไทยมีอสม.มากที่สุดในโลกประมาณ 1 ล้านคน โดยในอดีตจะเน้นการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนในหมู่บ้านเข้าถึงบริการได้ง่าย และได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นเน้นการพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อดูแลสุขภาพตัวเองในรูปของกลุ่มเครือข่ายให้เกิดความยั่งยืน ตั้งแต่พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา ขณะนี้ในแต่ละหมู่บ้านมียุทธศาสตร์พัฒนาสุขภาพชัดเจน ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือเซียโร่ (SEARO) สนับสนุนให้ไทยเป็นเลขาธิการของเครือข่ายนวัตกรรมการสาธารณสุขมูลฐานในภูมิภาคที่ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ซึ่งงานสาธารณสุขมูลฐานนี้จะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาของสหัสวรรษขององค์การสหประชาชาติ (Millennium Development Goals) ในปี 2558ที่เร็วขึ้น
 
          นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังส่งเสริมให้นำภูมิปัญญาด้านการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรมาใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งขณะนี้ใช้ในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย เป็นที่พึ่งสุขภาพของชาวบ้านที่ใกล้ตัว เช่นใช้สมุนไพรขมิ้นชันแก้ท้องอืด ฟ้าทะลายโจรแก้ไข้ การนวดบรรเทาปวดเมื่อย สามารถเป็นต้นแบบการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานแก่ประเทศสมาชิกได้ เนื่องจากในแต่ละประเทศสมาชิกมีการแพทย์พื้นบ้านอยู่แล้ว
 
ด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานวัตกรรมการสาธารณสุขมูลฐานฯและเลขาธิการเครือข่ายนวัตกรรมการสาธารณสุขมูลฐานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งเครือข่ายนวัตกรรมการสาธารณสุขมูลฐานภูมิภาคขึ้น โดยมอบให้ประเทศไทยเป็นเลขาธิการเครือข่ายฯ มีวาระ 3 ปี มีทีมที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก 1 ชุด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานในภูมิภาค จัดทำร่างปฏิญญาและธรรมนูญเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในแต่ละประเทศได้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำระบบข้อมูล เว็บไซต์ และแผนการดำเนินงาน 3ปีเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะต้องจัดประชุมเครือข่ายและรายงานผลการดำเนินงานทุกปี    
 
ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านงานสาธารณสุขมูลฐานของภูมิภาคแล้ว ได้เชิญกว่า 10 องค์กรของไทย อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สปสช. สวรส. มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น ร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดตั้งเครือข่ายนวัตกรรมสาธารณสุขมูลฐานของไทยไปพร้อมกันด้ว
 *********************************   21 กุมภาพันธ์ 2555


   
   


View 20    21/02/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ