คณะกรรมการเอดส์ชาติ เห็นชอบ 3 ยุทธศาสตร์ สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้วัยรุ่นและองค์กรส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วม เพื่อสกัดเอดส์ในวัยรุ่น ชนวนสำคัญปะทุปัญหาเอดส์ไทยบานปลาย ล่าสุดไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 17,000 คน กว่าร้อยละ 50 เป็นเยาวชนเพราะพฤติกรรมเสี่ยง แข่งมีคู่นอน ใช้ถุงยางอนามัยต่ำ ใช้สารเสพติด ตั้งเป้า 3 ปี ลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงร้อยละ 50 ประหยัดงบประมาณชาติได้ถึง 1,200 ล้านบาท และเห็นชอบตั้งสำนักงานเลขานุการเอดส์ชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระ เพื่อสร้างความต่อเนื่องการดำเนินงาน
วันนี้ (2 เมษายน 2550) นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ครั้งที่ 2 ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยมีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศวิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมการประชุม วาระพิจารณาสำคัญของที่ประชุมในวันนี้ คือการขับเคลื่อนการป้องกันการติดเชื้อเอดส์ในวัยรุ่น และการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศ
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการประเมินผลสถานการณ์โรคเอดส์ของประเทศไทยพบว่าน่าห่วงมาก โดยเฉพาะมีการขยายตัวของพฤติกรรมเสี่ยงมาก ทำให้แนวโน้มผู้ติดเชื้อเอดส์ในไทยอาจปะทุบานปลายขึ้นมาอีก หลังจากที่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคมาตั้งแต่ปี 2530 จนเป็นแบบอย่างและเป็นผู้นำโลกคู่กับประเทศยูกันดา กลุ่มที่จะทำให้เอดส์ไทยปะทุขึ้นอย่างรุนแรง คือ กลุ่มวัยรุ่นที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเอดส์อย่างน่าวิตก สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก
นายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการที่จะรณรงค์ในการป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มเยาวชนภายใน 3 ปีนี้จะเน้นหนัก 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ การป้องกันโรคเอดส์ ปรับแก้ค่านิยมที่ผิด เช่น การแข่งกันมีเพศสัมพันธ์ เสริมสร้างค่านิยมใหม่ให้เยาวชนให้สอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย ผ่านสื่อทุกประเภทรวมทั้งโทรศัพท์มือถือและสื่ออินเทอร์เน็ต รณรงค์ในสถานศึกษา สถานประกอบการ ครอบครัว ชุมชน เอ็นจีโอ องค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจ 2.ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์แก้ไขทุกระดับ และ 3.ให้องค์กรส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมป้องกันแก้ไขปัญหาเอดส์ในกลุ่มเยาวชนของแต่ละพื้นที่อย่างจริงจัง
ในวันนี้ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์ โดยเน้นในกลุ่มเยาวชน มีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ทำหน้าที่กำกับดูแลทิศทางการดำเนินงาน แก้ไขให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานเอดส์ชาติ รวมทั้งมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับงบประมาณจะขอจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเบื้องต้นเป็นเงิน 500 ล้านบาท และจะขอสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ด้านนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจระดับชาติ ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ในปี 2549 พบว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 18-19 ปี ผู้ชายร้อยละ 67 และผู้หญิงร้อยละ 44 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกผู้ชายเพียง 15 ปีเศษ ส่วนผู้หญิงอายุ 16 ปีเศษเท่านั้น ซึ่งผิดจาก 5 ปีก่อน ที่วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ยประมาณ 18 ปี โดยชายร้อยละ 20 และหญิงร้อยละ 5-10 รายงานว่ามีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นที่ไม่ใช่คู่นอนประจำของตน และมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ใช้ถุงยางอนามัย ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อเอดส์ และนำไปสู่คู่นอนหน้าใหม่ ภรรยาหรือสามีตนเอง ขณะเดียวกันในกลุ่มที่ติดเอดส์แล้วมีใช้การถุงยางอนามัยไม่ถึงร้อยละ 10
นอกจากนี้มีประชากรหลายกลุ่มที่มีอัตราการติดเชื้อเอดส์ค่อนข้างสูง เช่น กลุ่มชายรักชาย มีการติดเชื้อ เอชไอวีเฉลี่ยทั่วประเทศร้อยละ 7 แต่ในเขตกรุงเทพพบอัตราติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 28 กลุ่มผู้ที่ฉีดยาเสพติดเข้าเส้นมีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 40-50 ซึ่งจัดว่าสูงที่สุด ในกลุ่มหญิงบริการมีการติดเชื้อร้อยละ 4-10 และกลุ่มชาวประมงติดเชื้อร้อยละ 4-13 ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 17,000 คน เฉลี่ยวันละ 45 คน โดยกว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 18-19 ปี หากไม่เร่งป้องกันแก้ไข ในอนาคตผู้ติดเชื้อเอดส์ของไทยจะอายุน้อยลงเรื่อยๆ และสร้างภาระการดูแลรักษาให้ประเทศชาติเป็นอันมาก ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ที่มีชีวิตอยู่ ประมาณ 500,000 คน
นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นไทยติดเอดส์มาก เนื่องจากที่ผ่านมายังได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องโรคเอดส์ไม่เพียงพอและขาดทักษะในการป้องกันโรค ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่อง ดังกล่าวให้เยาวชนที่ยังไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าในปี 2553 จะลดการติดเชื้อเอชไอวี รายใหม่ลงร้อยละ 50 หรือประมาณ 7,000-8,000 รายต่อปี ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคเอดส์ได้ถึง 1,200 ล้านบาท
ส่วนการการสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ของประเทศนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเสนอให้มีการจัดตั้ง สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์โดย ในระยะแรกจะมีการแก้ไขระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ(ฉบับที่3) พ.ศ. 2547เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและประสานงานแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันต่อสถานการณ์ นายแพทย์มงคล กล่าว
เมษายน *************************** 2 เมษายน 2550
View 15
02/04/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ