สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 143 View
- อ่านต่อ
จากกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงต่อสังคม โดยตอบคำถาม 8 ข้อเกี่ยวข้องกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิสูจน์ความจริงใจว่าไม่ล้มบัตรทอง อาทิกรณีบอร์ดสปสช.ในส่วนของผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เคยมีพฤติกรรมเชิญชวนโรงพยาบาล เอกชนแห่งอื่นๆ ไม่ให้เข้าร่วมบริการสิทธิประโยชนืไตวาย การแต่งตั้งบอร์ดสปสช.ในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่มีประวัติและผลงาน ความเชี่ยวชาญตามที่กฎหมายกำหนด นั้น
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2555) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มอบให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นหน้าที่ของบอร์ดสปสช.คณะใหญ่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องฟังมติของเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งอนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการในรายละเอียดตามภารกิจของแต่ละคณะ และนำเสนอผลต่อที่ประชุมบอร์ดใหญ่ เพื่อพิจารณาเป็นมติของบอร์ด เรื่องที่เกิดขึ้นอาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกันมากกว่า ขอเรียนทุกฝ่ายว่าอย่าวิตกกังวลเรื่องนี้ เพราะจะทำให้งานดูแลประชาชนล่าช้า ควรเร่งทำงานมากกว่า
สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งอนุกรรมการฯนั้น ขณะนี้กำลังติดตามว่าได้ดำเนินการไปถึงไหน จะสอบถามในการประชุมวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ กรณีบอร์ดสปสช.ในส่วนของผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นข่าวอยู่ มีเรื่องร้องเรียน บัตรสนเท่ห์ เอกสารแนบมา ก็ให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดสปสช.พิจารณาด้วย มติที่ประชุมได้ผลเป็นอย่างไร จะส่งเรื่องให้กลุ่มของโรงพยาบาลเอกชน อาจตำหนิ หรือให้เปลี่ยน ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม ได้มอบเรื่องให้เลขาสปสช.แล้ว
“อนุกรรมการฯไม่ได้ใหญ่ไปกว่าบอร์ดสปสช. เชื่อว่าบอร์ดสปสช.ซึ่งมีสัดส่วนจากทุกภาคส่วนอยู่ มีทั้งผู้แทนภาคประชาชนด้านต่างๆ นอกนั้นเป็นข้าราชการประจำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียประโยชน์จากผู้ใดในอนุกรรมการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ปฏิบัติภารกิจที่สปสช.กำหนด จะต้องวางแผนให้บริการให้ครบตามภารกิจที่หลักประกันสุขภาพตั้งไว้ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น จะอยู่ที่ภาคบริการมากกว่า เช่นการส่งเงินช้า ที่ผ่านมาเรียกว่าเงินค้างท่อ ผู้ให้บริการก็เดือดร้อน โรงพยาบาลบริหารเงินไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก และเป็นการบริหารงานของชุดเก่าไม่ใช่ชุดใหม่” นายวิทยากล่าว
**************************** 1 กุมภาพันธ์ 2555