รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยไทยจัดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.99 พร้อมร่วมผลักดันวาระหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระโลก และเป็นที่ศึกษาดูงานต่างประเทศที่สนใจความสำเร็จไทย เผยทิศทางพัฒนาใน 5 ปีข้างหน้า ไทยจะเน้นการรับมือโรคในผู้สูงอายุ การสร้างสุขภาพป้องกันโรคเรื้อรัง และการนำเทคโลยีการแพทย์มาใช้บริการประชาชน

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรัฐมนตรีสาธารณสุข 6 ประเทศได้แก่ประเทศมอนโดวา เคนย่า แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอวอร์ดประจำปี 2555 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพมหานคร ว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้หยิบยกเอาเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาพูดแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เท่าที่ฟังการดำเนินการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศอื่นๆยังไม่สามารถให้การดูแลประชากรได้ครอบคลุม  บางประเทศทำได้เพียงร้อยละ 20 บางประเทศได้ร้อยละ 30 หรือ 50  สำหรับประเทศไทย เรากล้าพูดได้ว่าครอบคลุมได้ร้อยละ 99.99
            นายแพทย์สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ประเทศต่างๆต้องการจะพัฒนา ขยายการครอบคลุมของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  และต้องการเห็นตัวอย่างรูปแบบของประเทศไทย โดยปัญหาอุปสรรคที่ประเทศอื่นๆประสบ 2 เรื่องใหญ่ได้แก่ เรื่องงบประมาณ  รัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณไปใช้ในการนี้ได้อย่างเพียงพอ และปัญหาความครอบคลุมคือแรงงานที่มีทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งยากที่จะนำเข้าสู่ระบบ ซึ่งประเทศไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศอื่นๆในเรื่องของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการจัดศึกษาดูงาน หรือการจัดอบรม ประชุมวิจัยต่างๆ ในประเทศไทยด้วย
            “เท่าที่ฟังในที่ประชุมต้องการจะผลักดันให้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระของโลก ซึ่งในนามประเทศไทย ถ้าส่วนใหญ่พร้อมที่จะผลักดัน ประเทศไทยก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้วาระหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งโลกในอนาคตนายแพทย์สุรวิทย์กล่าว
            นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางทางการพัฒนาโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การรับมือสังคมผู้สูงอายุ  จากการประเมินต่างๆเห็นว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีปัญหาตามมาในเรื่องของการดูแลในเรื่องของโรคผู้สูงอายุ ปัญหาโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง ซึ่งจะมากขึ้น  2.การบริหารพฤติกรรมของประชาชน ในเรื่องของการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร  เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคต่างๆเหล่านี้รุนแรงหรือเพิ่มมากเกินไป   
          ประการที่ 3 คือ การนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้าให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีดังกล่าวมีความก้าวหน้ามาก  คนไทยมุ่งหวังอยากที่จะใช้เทคโนโลยีในการตรวจรักษาที่ก้าวหน้า แต่ปัญหาคือค่าใช้จ่ายที่จะสูงมาก ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่จะต้องทำการประเมินว่าเราควรนำเทคโนโลยีด้านใดมาใช้จึงจะเหมาะสม โดยเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อชีวิต เราจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงก็ตาม  เพื่อให้ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพทั่วถึง เสมอภาค และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว
         ***********************************    29 มกราคม 2555


   
   


View 17    29/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ