บ่ายวันนี้  (27 มกราคม 2555)  ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายไพบูลย์ พิมพ์พิสิษฐ์ถาวร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

นายวิทยากล่าวว่า จากกรณีที่มีการเสนอข่าวแสดงความคิดเห็นว่ามีการวางแผนบันได 4 ขั้นเพื่อล้มโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ขอยืนยันว่า โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องอยู่คู่กับประชาชนไทย รัฐบาลไม่มีความคิดที่จะล้มเลิกโครงการนี้ มีแต่นโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพบริการให้มากขึ้น ลดความแออัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยังให้ระบบการส่งต่อมีประสิทธิภาพ เพื่อให้หลักประกันว่า ประชาชนจะเข้าถึงบริการโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีค่าใช้จ่ายสูง โดยไม่เป็นภาระของครอบครัว และไม่ต้องรอนาน จนทำให้โรคลุกลามจนยากแก่การรักษา

สำหรับเรื่องการคัดเลือกคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ของบอร์ดสปสช. ที่มีผู้แสดงความกังวลว่า มีทิศทางไปในทางไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของประชาชนนั้น ขอชี้แจงว่า ขณะนี้บอร์ดสปสช. ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาครบถ้วนแล้ว มีมติแต่งตั้งแล้ว 12 ชุด เหลืออีก 1 ชุดคือ อนุกรรมการประชาสัมพันธ์

   

เนื่องจากมีตัวแทนของภาคประชาชนในสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมในบอร์ดสปสช.ด้วย อยากให้ประชาชนรับทราบว่า เจตนาของรัฐบาลและตนในฐานะที่เป็นประธานบอร์ด มีความคาดหวังอยากให้การดูแลสุขภาพของประชาชนได้ครอบคลุม อยากให้งานของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ขับเคลื่อนและเดินหน้าต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน ดังนั้นสปสช.จะเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะในปี 2555 ซึ่งเหลือระยะเวลาดำเนินการจำกัด และมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องเร่งพิจารณาดำเนินการ อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี  และอื่นๆ นายวิทยากล่าว

และกรณีที่คุณวรนุชจะยื่นหนังสือลาออกจากอนุกรรมการ และมีกรรมการภาคประชาชนบางคนจะขอถอนตัวจากการทำงานอนุกรรมการจะมีผลต่อการทำงานหรือไม่นั้น   ขอชี้แจงว่า คณะอนุกรรมการเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการทำงาน โดยมีบทบาททำหน้าที่เพียงจัดทำรายละเอียดและข้อเสนอ ให้บอร์ดเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและกลวิธีในการดำเนินการ  การกำหนดนโยบายจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับอนุกรรมการ นอกจากนี้กรรมการภาคประชาชนก็เป็นกรรมการอยู่ในบอร์ดสปสช.อยู่แล้ว ดังนั้นโดยหลักการแล้ว อนุกรรมการควรเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบอร์ด ยกเว้นผู้ที่จะทำหน้าที่โดยตำแหน่ง  ซึ่งผู้ที่จะมาทำงานนี้ต้องมีความหนักแน่น ไม่เช่นนั้นงานก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ เพื่อให้เกิดการทำงานนำไปสู่การบริการประชาชน เพราะงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะต้องดูแลภาพรวมในการบริการสุขภาพประชาชนมากกว่า 40 ล้านคน หากคิดว่าองค์ประกอบในส่วนนี้จะทำให้การทำงานดำเนินการต่อไปไม่ได้  จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ขอยืนยันว่าคณะกรรมการทั้งหมดนั้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง เพื่อที่จะทำงานให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นยินดีรับฟังความคิดเห็นจากบางท่านที่แตกต่างกัน แต่ไม่ต้องการให้คิดว่าจะไม่สามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ ขอให้ผู้ที่คิดว่าจะพยายามให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเดินหน้าต่อไปไม่ได้  กลับมาช่วยกันทำให้เกิดงานและดูแลประชาชนต่อไป           

ด้าน นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพกล่าวว่า คณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งบอร์สปสช.มีมติเห็นชอบแล้ว 12 ชุด ได้แก่  1. คณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ มี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน 2.คณะกรรมการอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน 3. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง มีน.ส.วรนุช หงสประภาส ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงินการคลัง บอร์ด สปสช. เป็นประธาน 4.คณะกรรมการประเมินผลระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธาน 5.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรณีอุทธรณ์ มี ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน 6. คณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาและบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ มี นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธาน

7.คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีนพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก เป็นประธาน       8.คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีพญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ เป็นประธาน 9.คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ยังคงใช้คณะกรรมการชุดเดิม คือนายเปล่ง ทองสม เป็นประธาน 10.คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาล ดร.สุนีย์ มัลลิมาลย์ ศาสตรจารย์ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน  11.คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมและการคุ้มครองสิทธิ มีดร.สุนีย์ มัลลิมาลย์ ศาสตรจารย์ระดับ 10 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประธาน และ 12.คณะอนุกรรมการทบทวนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีนายสุพจน์ ฤชุพันธ์ อดีตอัยการจังหวัด สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นประธาน

นายแพทย์วินัยกล่าวต่อว่า องค์ประกอบของอนุกรรมการแต่ละชุด พิจารณาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อให้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย รอบด้าน และสะท้อนถึงผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง โดยขั้นตอนในการพิจารณาเรื่องนี้ สปสช.ได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และองค์ประกอบของอนุกรรมการ ให้บอร์ดสปสช. ทุกท่านพิจารณาล่วงหน้าแล้ว และเชื่อมั่นว่ากรรมการทุกท่านได้พิจารณากันอย่างรอบคอบ อีกทั้งในการประชุมก็ได้เปิดโอกาสให้บอร์ดทุกท่านแสดงความคิดเห็น อภิปราย และซักถามข้อสงสัยกันอย่างเต็มที่ จนเป็นที่พอใจของบอร์ดสปสช.

******************************************   27  มกราคม 2555 



   
   


View 10    27/01/2555   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ