กระทรวงสาธารณสุข เผยโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เติมเต็มระบบบริการหน่วยงานในสังกัด ทั่วประเทศ เดินถูกทางและได้ผลดี พบว่าแพทย์ในโครงการ 1 ใน 4 คว้าปริญญาเกียรตินิยม และทำงานใช้ทุนครบ 3 ปี กว่าร้อยละ 95 ชี้ให้เห็นว่าแพทย์ในโครงการนี้จะอยู่ในระบบราชการสูง นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีมอบ สัมฤทธิบัตรแก่บัณฑิตแพทย์ รุ่นที่ 5 ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถาบันผลิตแพทย์ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีการศึกษา 2549 จำนวน 31 คน ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมื่อเช้าวันนี้ ว่า จากการประเมินอัตรากำลังแพทย์ในประเทศไทยล่าสุดในปี 2547 พบทั่วประเทศมีแพทย์ในภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 18,918 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชากร 3,305 คน ในจำนวนนี้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 9,375 คน เมื่อเปรียบเทียบความรับผิดชอบของแพทย์ 1 คนกับประชากรรายภาคแล้วพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขาดแคลนแพทย์มากที่สุด รับผิดชอบประชากรเฉลี่ยถึง 7,466 คน รองลงมาคือภาคเหนือเฉลี่ย 4,534 คน ภาคใต้เฉลี่ย 3,982 คน โดยแพทย์กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานครมากที่สุด เฉลี่ยดูแลประชากรเพียง 879 คนเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งกระจายแพทย์ให้สมดุลกับประชากรในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจะต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอ ในขณะที่แต่ละปีมีแพทย์ลาออกจากราชการประมาณ 500 คน นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อไปว่า ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลน ได้จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยผลิตร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ 7 แห่ง โดยมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา จำนวน 12 แห่ง เป้าหมายผลิต 6,807 คน ตั้งแต่ปี 2538 – 2556 ใช้งบประมาณ 300,000 บาทต่อคนต่อปี โดยคัดเลือกนักเรียนจากจังหวัดต่างๆ ที่มีผลการเรียนดีเข้าเรียน 6 ปี ตามหลักสูตรมาตรฐานของคณะแพทย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับไปทำงานในจังหวัดภูมิลำเนาที่รับทุนเป็นเวลา 3 ปี สำหรับที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มรับนักศึกษาใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รุ่นแรกเมื่อปี 2540 จำนวน 13 คน จนถึงขณะนี้สำเร็จไปแล้ว 5 รุ่น รวม 133 คน โดยรุ่นที่ 5 สำเร็จการศึกษา 31 คน ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา 17 คน บุรีรัมย์ 8 คน และสุรินทร์ 6 คน ในปีการศึกษา 2550 นี้ จะรับนักศึกษาใหม่เข้าเรียนอีก 45 คน จากการติดตามผลแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาซึ่งกลับไปทำงานตามภูมิลำเนาเดิม พบว่า แพทย์มีความตั้งใจในการทำงานสูงมาก มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้อย่างดี ถือว่าเป็นความสำเร็จของโครงการ ทางด้านนายแพทย์สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวว่า จากการประเมินผลการเรียนของนักศึกษาในโครงการ ซึ่งในปีการศึกษา 2549 มีผู้จบการศึกษาทั้งหมด 253 คน พบว่า 69 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 มีผลการเรียนระดับเกียรตินิยม โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 24 คน ที่เหลือได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนเป็นอย่างดี และเมื่อจบไปแล้วพบว่า กว่าร้อยละ 95 ทำงานชดใช้ทุนครบ 3 ปี ในขณะที่แพทย์ในระบบปกติชดใช้ทุนครบ 3 ปี เพียงร้อยละ 68 เท่านั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าแพทย์ที่จบจากโครงการนี้ จะอยู่ในระบบราชการสูง ***************************** 30 มีนาคม 2550


   
   


View 11    30/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ