นายแพทย์อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อการรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่า กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่น หรือไจก้า (JICA) ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น 3 คน ลงพื้นที่สำรวจและประเมินการดำเนินงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยของไทย ที่จังหวัดนนทบุรี นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 20-29 ธันวาคมที่ผ่านมา ทีมผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ซึ่ง 1 ในนั้น เป็นผู้มีประสบการณ์ออกดำเนินการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติมาแล้วทั่วโลก ได้ชื่นชมประเทศไทยว่า สามารถเตรียมพร้อมโรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมและมาตรการป้องกันอื่นๆได้อย่างดี และชื่นชมความมีประสิทธิภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีระบบสั่งการ โดยการจัดตั้งวอร์รูม รวบรวม วิเคราะห์ และถ่ายทอดเชื่อมโยงข้อมูลให้กับวอร์รูมของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงานระหว่างวอร์รูม และมีทีมเฝ้าระวังโรคระบาดที่มีความฉับไว รวมทั้งเครือข่ายชุมชนที่มีความเข้มแข็ง โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเป็นแกนนำ
นายแพทย์อภิชัยกล่าวต่อว่า ผลการประเมินของทีมผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว พบว่า แม้พื้นที่ประสบอุทกภัยจะกินบริเวณเป็นวงกว้าง แต่พบการระบาดของโรคติดต่ออยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ระบบบริการของสถานบริการทางการแพทย์ในพื้นที่น้ำท่วมยังสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากประสบการณ์ที่เคยรับมือกับคลื่นยักษ์สึนามิที่มหาสมุทรอินเดียเมื่อพ.ศ.2547 และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ เอช 1 เอ็น 1 เมื่อพ.ศ.2552 ทำให้การดำเนินการในพื้นที่ระดับจังหวัดและอำเภอเป็นไปในทิศทางเดียวกันนอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายดูแลสุขภาพในท้องถิ่น และมีอาสาสมัครชุมชนช่วยกันดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพ ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก และผู้ป่วยเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
จากการประเมินการดำเนินงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้ให้ข้อเสนอแนะแก่กระทรวงสาธารณสุขไทยใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านระบาดวิทยาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2.มีการสื่อสารให้ข้อมูลที่จำเป็นแก่กับผู้ประสบภัยและชาวต่างชาติ ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศระหว่างที่เกิดน้ำท่วม 3.มีระบบการกำจัดขยะด้านการแพทย์ 4.มีระบบการสั่งการของประเทศที่ต่อเนื่องเพื่อประกันความปลอดภัย 5.มาตรการฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวม โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม 6.กำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดความตระหนักและสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ และ7.ควรมีการแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในครั้งนี้แก่ประเทศต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอให้ประเทศญี่ปุ่น จัดการอบรมเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารความเสี่ยง (Risk Communication) ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยเชิญประเทศที่สนใจ เช่นประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมการประชุมด้วย นายแพทย์อภิชัยกล่าว
********************************** 31 ธันวาคม 2554
View 17
31/12/2554
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ