ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข จัดทำแถลงการณ์ฉบับภาษาไทย-อังกฤษ ยืนยันไทยไม่มีโรคระบาดหลังเกิดน้ำท่วมพร้อมเผยแพร่ทางเว็บไซต์ และส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ความมั่นใจแก่ประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาไทย
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อเนื่องกว่า 3 เดือน ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าอาจเกิดปัญหาโรคระบาดตามมา รัฐบาลโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในการป้องกันควบคุมโรคระบาด นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างเต็มที่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข จัดทำแถลงการณ์เพื่อให้ความมั่นใจแก่ประชาชนและนานาประเทศว่า ประเทศไทยมีความปลอดภัย ไม่พบปัญหาโรคระบาดรุนแรง ลงนามโดยสัตวแพทย์หญิงมัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์ไมเคิล ดี แมลิสัน ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข โดยจัดทำทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ พร้อมส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ให้ความมั่นใจกับชาวต่างประเทศที่จะเดินทางมาประเทศไทยต่อไป พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ http://www.moph.go.th
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า แถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าว ได้กล่าวถึงมาตรการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการในช่วงน้ำท่วม ทั้งการจัดระบบการดูแลผู้ป่วย การเฝ้าระวังและควบคุมโรค โดยระดมทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์การแพทย์จากจังหวัดต่างๆเข้ามาช่วยเหลือหน่วยบริการสาธารณสุขในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการทั้งสุขภาพกายและจิตแก่ผู้ประสบภัย ในศูนย์พักพิงและที่ติดค้างในชุมชนที่ถูกน้ำท่วม เพื่อให้บริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง พร้อมเสริมระบบการเฝ้าระวังโรคในรูปแบบพิเศษต่างๆ เพื่อค้นหาการป่วยทั้งในศูนย์พักพิงและชุมชนได้อย่างรวดเร็ว และจัดทีมเคลื่อนที่เร็วออกสอบสวนควบคุมโรค สื่อสารความเสี่ยง และปรับปรุงสุขาภิบาลเพื่อประกันความปลอดภัยของอาหารและน้ำดื่มในศูนย์พักพิงและในชุมชน โดยได้รับความร่วมมือทางด้านวิชาการจากองค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข และการสนับสนุนเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากองค์การระหว่างประเทศและจากหลายประเทศ
จากการเฝ้าระวังในพื้นที่ประสบอุทกภัยพบว่า โรคที่พบบ่อยคือโรคน้ำกัดเท้า การติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง ตาแดง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้ประสบภัยที่อาศัยในศูนย์พักพิง แต่จำนวนผู้ป่วยไม่แตกต่างจากสภาวะการเกิดโรคในปีก่อนๆ ส่วนการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ ได้แก่ การจมน้ำและถูกไฟฟ้าดูด จึงสรุปได้ว่าไม่มีสถานการณ์โรคระบาดรุนแรงแต่ประการใด โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่สรุปรายงานสถานการณ์โรคและกิจกรรมที่สำคัญผ่านเว็บไซต์ http://www.moph.go.th และ http://www.boe.moph.go.th รวมทั้งจัดทำรายงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข ที่เว็บไซต์ http://www.ddc.moph.go.th
สำหรับการดำเนินงานจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณสุขในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยตามมาตรการ 5 ด้าน ได้แก่ การฟื้นฟูสถานบริการ ระบบการเฝ้าระวังโรค การป้องกันและควบคุมโรค การปรับปรุงคุณภาพน้ำและอาหาร ความสะอาดของตลาดสด คุณภาพของน้ำประปา คุณภาพของอนามัยสิ่งแวดล้อม การสุขาภิบาลและการกำจัดขยะ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข ประสานการทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการฟื้นฟูสุขภาพของชุมชนให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไป
****************************** 7 ธันวาคม 2554
View 11
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ